นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในเดือน พ.ย.60 หลังจากราว 6 เดือนก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติแผนฯ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 3.2 หมื่นล้านบาท แต่อาจมีการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนได้
ทั้งนี้ เมื่อ ครม.อนุม้ติแล้ว ทอท.ก็จะเร่งจัดจ้างผู้ออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และเปิดประมูลงานต่อไป
แผนพัฒนาดอนเมืองระยะที่ 3 ประกอบด้วยงาน 2 กลุ่มหลัก คืองานอาคาร อาทิ ลานจอดรถยนต์ หลุมจอดอากาศ และงานติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automatic People Mover : APM) ซึ่งขณะนี้ปรับแผนมาทำส่วนติดตั้ง APM ก่อนเพราะการจราจรภายในท่าอากาศยานดอนเมืองเริ่มติดขัดแล้ว
โดยระบบ APM ในสนามบินจะมีทั้งหมด 5 สถานี สถานีที่ 1 เริ่มจากด้านทิศเหนือของสนามบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อถอนอาคารเก่า เพื่อสร้างเป็นอาคารจอดรถยนต์ 1,500 คัน สถานีที่ 2 อยู่บริเวณอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 (อาคารเที่ยวบินระหว่างประเทศ และอาคารผู้โดยสาร 2 (เที่ยวบินภายในประเทศ) สถานีที่ 3 อยู่ตรง Junction Building (อาคารในประเทศเดิม) ที่จะเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีที่ 4 อยู่บริเวณคาร์โก้ สถานีที่ 5 อยู่ที่โรงซ่อมบำรุงระบบ APM และบริเวณนี้จะมีแผนก่อสร้างที่จอดรถยนต์ 3,000 คัน
ทั้งนี้ อาคาร Junction ที่จะเกิดขึ้นเป็นเพียงแผนเบื้องต้น เป็นอาคารขนาด 1 แสน ตร.ม.ที่จะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ คอนเซ็ปต์เบื้องต้นที่มองไว้จะมีร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรมในสนามบินขนาด 300 ห้อง แต่แบบที่ชัดเจนต้องรอให้มีการออกแบบที่จะเกิดขึ้นให้แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้เชิงพาณิชย์ในสนามบิน เพิ่มขึ้นจากปัจจจุบันอยู่ที่ราว 30%
"การก่อสร้างเฟส 3 จะเน้นที่ระบบ APM ก่อน เพื่อแก้ปัญหารถติดในสนามบิน และรองรับการเดินทางของผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 62 แล้วเสร็จปี 65"นายเพ็ชร กล่าว
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสาร 35 ล้านคน จากที่สามารถรองรับได้ 30 ล้านคน คาดว่าเมื่อการก่อสร้างเฟส 3 แล้วเสร็จในปี 65 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับได้เป็น 40 ล้านคน