โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หลังประกาศแผนเพิ่มทุนระดมเงิน 3.87 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ชำระคืนหนี้และเตรียมรองรับการลงทุน ซึ่งจะทำให้เพิ่มสภาพคล่องการมองหาโอกาสการเติบโตในอนาคต แม้ยังไม่มีการเปิดเผยแผนการลงทุนใหม่ แต่ CPF ยืนยันที่จะไม่ลงทุนในธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจหลัก
ขณะที่แนวโน้มพื้นฐานธุรกิจไม่ได้แย่ แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/60 จะทำสัดส่วนกำไรปกติได้ไม่มากนัก แต่เชื่อว่าแนวโน้มกำไรจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผลักดันให้ทั้งปีนี้ยังมีกำไรเติบโตจากราคาเนื้อไก่และกุ้งที่สูงขึ้น รวมถึงยังได้รับประโยชน์จากการรวมงบการเงินเข้ามาเต็มปีของ Bellisio ซึ่งทำธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานในสหรัฐฯที่ CPF เข้าซื้อเมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนที่จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 25 บาท น่าจะกดดันราคาหุ้นในระยะสั้นเท่านั้น และราคาหุ้นปัจจุบันก็ได้สะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปแล้วบางส่วน ขณะที่ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ต่างจากราคาตลาดก็น่าจะทำให้ราคาหุ้นไม่เกิดผล dilution มากนัก
เมื่อเวลา 14.49 น.ราคาหุ้น CPF อยู่ที่ 24.90 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ SET ลดลง -0.09%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 32.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 38.00 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 30.50 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 37.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 27.75 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 38.00 ทรีนีตี้ ซื้อ 28.00
นางสาวสุธาทิพย์ พีรทรัพย์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากการเพิ่มทุนของ CPF ครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามแผน ก็จะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น (Dilution Effect) ประมาณ 16-17% แต่ CPF ก็จะได้รับเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปชำระคืนหนี้ 2.7 หมื่นล้านบาท ช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้ประมาณ 1 พันล้านบาท/ปี ทำให้ภาพรวมเกิดผลกระทบต่อกำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ลดลงประมาณ 13%
ส่วนเงินทุนที่เหลืออีกราว 1.17 หมื่นล้านบาท CPF เตรียมไว้สำรองเพื่อการลงทุนในธุรกิจ แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการลงทุนออกมา แต่ CPF ยืนยันว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักในกลุ่มอาหารสัตว์ ,อาหาร และเนื้อสัตว์ โดยจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจหลัก แต่หากเงินลงทุนดังกล่าวไม่พอ CPF ก็ยังมีโอกาสที่จะก่อหนี้เพิ่มด้วยการกู้ยืมได้ หลังจากที่ได้ลดหนี้ไปแล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำได้สำเร็จตามแผนหรือไม่ เนื่องจากว่าราคาที่เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนนั้น 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 25 บาทนั้นใกล้เคียงกับราคาในกระดาน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ลงทุนบางส่วนเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุน แต่หันมาเลือกซื้อหุ้นในกระดานแทน
แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานของ CPF ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้จากราคาเนื้อไก่และหมูที่ฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจกุ้งมีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาวัตถุดิบลดลงหลังจากผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น ตลอดจนธุรกิจต่างประเทศที่เติบโตจะช่วยหนุนให้กำไรทั้งปีนี้เติบโตได้มากกว่าปีก่อน แต่อัตราเติบโตไม่สูงมากเพราะฐานในปีก่อนอยู่ในระดับสูง ขณะที่การเข้าซื้อธุรกิจ Bellisio Foods Inc. (Bellisio) ยังจะช่วยหนุนผลปรกอบการในปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ ให้ราคาเป้าหมายสำหรับหุ้น CPF ที่ 38 บาท และหลังเพิ่มทุน มีราคาเป้าหมายที่ 32.7 บาท
"ถ้า CPF เพิ่มทุนได้ตามแผน ก็จะนำเงินไปใช้คืนหนี้ 2.7 หมื่นล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยได้ปีละ 1 พันล้านบาท การเพิ่มทุนทำให้เกิด Dilution 16-17% แต่สุทธิแล้วได้เงินมาลดหนี้ เบ็ดเสร็จผลกระทบน่าจะอยู่ประมาณ 13% ทำให้ EPS ลดลง Dilution ระยะสั้น ซึ่งเป็นระดับค่อนข้างต่ำ"นางสาวสุธาทิพย์ กล่าว
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ CPF ในการมองหาโอกาสการเติบโตในอนาคตได้มากขึ้น จากเดิมคาดสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) สิ้นปี 61 ที่ระดับ 1.4 เท่า ภายหลังเพิ่มทุนจะลดลงเหลือ 0.9 เท่า เป็นไปตามเป้าหมายของ CPF ที่ต้องการรักษาสัดส่วนที่ราว 1 เท่า โดยราคาเป้าหมายก่อนเพิ่มทุนเท่ากับ 38 บาท และหลังขึ้นเพิ่มทุนจะลดเหลือ 32 บาท ขณะที่ในเชิงพื้นฐานยังแนะ"ซื้อ"แต่ราคาหุ้นช่วงนี้คงจะถูกกดดันจากการเพิ่มทุน
สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาส 1/60 ของ CPF นับว่าทำได้ดีกว่าคาดมาจากการรวม Bellisio เต็มไตรมาส และส่วนแบ่งกำไรจากบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ทำได้โดดเด่น ส่วนธุรกิจที่สร้างผลขาดทุนคือ ธุรกิจหมู จากราคาหมูที่ลดลงทั้งในเวียดนาม กัมพูชา และไทย โดยกำไรปกติในไตรมาส 1/60 คิดเป็นสัดส่วน 16% ของประมาณการทั้งปีที่ 1.47 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มกำไรน่าจะฟื้นดีขึ้นในไตรมาส 2/60 ภายหลังราคาหมูและไก่ในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงสถานการณ์กุ้งที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ราคาหมูในเวียดนามยังไม่ดีนัก จากปัญหาภาวะล้นตลาดที่ต้องใช้เวลาในระบายสต็อก แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังปีนี้ ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/60 น่าจะดีขึ้นต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดของปีเพราะเป็นช่วง High Season ของธุรกิจทั้งการส่งออกและต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจไก่ที่สถานการณ์การส่งออกในปีนี้ค่อนข้างสดใส
บทวิเคราะห์ของ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้ฐานะทางการเงินโดยรวมของ CPF มีความแข็งแกร่งขึ้น และทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการซื้อกิจการต่อเนื่องในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 มิ.ย.60 นี้
ขณะที่ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ต่างจากราคาตลาดจะทำให้ราคาหุ้นไม่เกิดผล Dilution มากนัก ส่วนราคาเหมาะสมที่ประเมินภายหลังจากการเพิ่มทุนยังไม่เปลี่ยนแปลงแม้จำนวนหุ้นเพิ่ม (อิงจากสมมติฐานที่นำเงินไปลดหนี้ทั้งหมด) ทำให้ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ"ให้ราคาพื้นที่ 37 บาท
ส่วนในเชิงพื้นฐานมองว่าปัจจุบันภาพของตลาดปศุสัตว์โดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น ราคาไก่ในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นจาก 38-39 บาท/กิโลกรัม (กก.) เป็น 40-42 บาท/กก. ขณะที่ราคาหมูฟื้นตัวขึ้นจาก 57 บาท/กก. เป็น 66 บาท/กก. ในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจสัตว์บกโดยรวม แม้การฟื้นตัวของราคาหมูในเวียดนามจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนในไทย แต่ทิศทางของราคาและปัจจัยที่กดดันได้ถูกคลี่คลายลงบางส่วนแล้ว
ขณะที่ธุรกิจกุ้งยังแสดงการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มผลประกอบการของ CPF จะมีการฟื้นตัวได้เมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ โดยยังคงคาดการณ์กำไรสุทธิในปีนี้ที่ 1.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเล็กน้อยจากฐานราคาหมูที่สูงผิดปกติในปีก่อน