ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่บมจ.ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ (TLUXE) ที่ระดับ “BB" อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายเล็กที่มีประสบการณ์ยาวนานในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำ รวมถึงความพยายามของบริษัทในการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจพลังงานทางเลือก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจกุ้ง ตลอดจนประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานลมที่ยังมีไม่มากนัก รวมถึงความเสี่ยงด้านการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า การบริหารเงินสดที่มีความเสี่ยงกว่าบริษัททั่วไป และภาระหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่ตามการเติบโตในช่วงหลายปีข้างหน้า
บริษัทไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ ก่อตั้งในปี 2530 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 ตระกูลจินดาสมบัติเจริญเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนประมาณ 12.9% ในขณะที่ตระกูลเสนีย์ประกรณ์ไกรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ถือหุ้นในสัดส่วน 3.8% ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยอาหารกุ้งและอาหารปลา ในปี 2558 บริษัทได้ขยายตัวสู่ธุรกิจรับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง
ต่อมาในช่วงกลางปี 2559 บริษัทได้ขยายกิจการสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือกโดยการซื้อกิจการ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นคือ PPSN Co., Ltd. (PPSN) และ Sumo Power Co., Ltd. (Sumo) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 255 ล้านบาท บริษัททั้ง 2 แห่งดังกล่าวกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 12 หน่วยที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าหน่วยละ 125 กิโลวัตต์ในเมืองเบปปุ จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยโรงไฟฟ้า 2 หน่วยได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้วในเดือนกรกฎาคม 2559 และมีสัญญาซื้อขายไฟระยะยาว 15 ปีกับ Kyushu Electric Power Co., Inc. ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นในราคารับซื้อ (Feed-in-Tariffs) ที่ดีตามการประกาศของรัฐบาลญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าทั้ง 2 หน่วยนี้สร้างรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทในปี 2559 ปัจจุบันธุรกิจอาหารปลาสร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากที่สุดโดยคิดเป็นประมาณ 68% ของรายได้รวมในปี 2559 รองลงมาคือธุรกิจอาหารกุ้ง (23%) ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (8%) และธุรกิจไฟฟ้า (1%)
ในช่วงที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome--EMS) ที่เกิดกับธุรกิจกุ้งในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ยอดขายอาหารกุ้งของบริษัทลดลงอย่างมากจาก 1,688 ล้านบาทในปี 2555 เหลือเพียง 352 ล้านบาทในปี 2559 ในขณะที่รายได้จากอาหารปลาอยู่ที่ระดับ 900-1,300 ล้านบาทในช่วงปี 2555-2559 รายได้จากธุรกิจอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปที่บริษัทได้ขายกิจการไปในปี 2559 มีรายได้เท่ากับ 220-330 ล้านบาทในปี 2555-2558
นอกจากนี้ โรคระบาดยังส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงจาก 7.7% ในปี 2555 สู่ระดับต่ำสุดที่ 3.1% ในปี 2557 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวได้ในปี 2559 โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.1% ในปี 2557 เป็น 7.2% ในปี 2559 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการปรับวิธีการซื้อวัตถุดิบและการบริหารสินค้าคงเหลือของบริษัท บริษัทยังมีการเพิ่มสินค้าคุณภาพสูงมากขึ้นเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอีกด้วย กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลงจาก 281 ล้านบาทในปี 2555 สู่ระดับ 85 ล้านบาทในปี 2557 และค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 109 ล้านบาทในปี 2558 และ 142 ล้านบาทในปี 2559 ตามการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
กำไรของบริษัททรงตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 บริษัทมีรายได้เท่ากับ 401 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 18% จากระดับ 340 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 รายได้ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักจากคำสั่งซื้ออาหารกุ้งที่เพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเท่ากับ 7.2% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ลดลงจากระดับ 9.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 EBITDA ของบริษัทจึงทรงตัวเท่ากับ 41 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560
งบดุลของบริษัทอ่อนแอลง โดยบริษัทมีเงินกู้รวมอยู่ที่ 1,480 ล้านบาทในปี 2559 จากสถานะเดิมในปี 2557 ที่ไม่มีเงินกู้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 44.9% ในปี 2560 จาก 0.9% ในปี 2557 เงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากบริษัทมีแผนเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ทำให้บริษัทออกหุ้นกู้จำนวน 1,486 ล้านบาทในปี 2559 อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการดังกล่าวมีความล่าช้า บริษัทจึงนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปลงทุนในตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange -- B/E) ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตและลงทุนในหุ้นสามัญ
ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและกำไรที่ลดลงส่งผลให้กระแสเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.1% ในปี 2559 และ 6.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 1.9 เท่าในปี 2559 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 เทียบกับ 16.6 เท่าในปี 2557
บริษัทมีความพยายามที่จะลดความผันผวนของรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์โดยการขยายไปสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือก นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 12 หน่วยแล้ว ในช่วงปลายปี 2559 ถึงปี 2560 คณะกรรมการของบริษัทได้อนุมัติแผนการจัดตั้งกิจการร่วมค้า 2 แห่ง ร่วมกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น 2 รายเพื่อลงทุนพัฒนาที่ดินสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งใหม่และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่จังหวัดอาโอโมริ ประเทญี่ปุ่น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเพิ่มเติมจำนวน 8 ยูนิตและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเพิ่มเติมอีก 30 ยูนิตในที่ดินของกิจการร่วมค้าอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นภายใต้สัญญาขายไฟระยะยาวในราคารับซื้อที่สูงตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศไว้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนการลงทุนรวมจำนวน 3,500-4,000 ล้านบาทสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าและการลงทุนในกิจการร่วมค้า
ทั้งนี้ การขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตและลดการผันผวนของกำไรในระยาวให้แก่บริษัท หากการลงทุนประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้ บริษัทก็คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพจำนวน 12 หน่วยและโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าวจะเพิ่ม EBITDA ให้แก่บริษัทได้ปีละ 180 ล้านบาท ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพอีก 38 หน่วยจะมี EBITDA เพิ่มอีกปีละประมาณ 400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจใหม่มีความเสี่ยงในการดำเนินงานเนื่องจากบริษัทไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงงานพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานลม รวมทั้งมีความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าหลายแห่งจะส่งผลลบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ลดความเสี่ยงในการดำเนินงานบางส่วนด้วยการทำสัญญาจ้าง Setouchi Natural Energy Co., Ltd. (Setouchi) ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นให้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพทั้งหมดของบริษัท โดย Setouchi เป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาหมู่บ้านจัดสรรพร้อมบ่อน้ำพุร้อน (Onsen) ในเมืองเบปปุ และปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพจำนวนหนึ่งในพื้นที่เดียวกันนี้อีกด้วย
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง รายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับประมาณ 1,700-2,400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 20% ในปี 2562 จากการมีอัตรากำไรจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่สูงกว่า กำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะเติบโตขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารกุ้งในประเทศไทย คำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และจากกำไรที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจไฟฟ้า เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 340 ล้านบาทในปี 2562
อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการโรงไฟฟ้าจะทำให้กระแสเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงในช่วงของการลงทุนจากนั้นจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามการเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 60%-65% อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2%-9% ในปี 2560-2562 และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 -3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำเอาไว้ได้และยอดขายในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งในประเทศไทย อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นโดยจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ
อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานลมของบริษัทประสบความสำเร็จและสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 65% ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทต่ำกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ โครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอกว่าคาดจากผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเป้าหมายหรือการลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน