(เพิ่มเติม) KTIS คาดปีนี้กำไรทำสถิติสูงสุด ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม-Yield ผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 1, 2017 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) มั่นใจว่าในปีนี้กำไรจะทำสถิตสูงสุดตามปริมาณอ้อยเข้าพีบเพิ่มขึ้น และผลตอบแทน (yield) จากผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น โดยคาดว่ารายได้จะทะลุ 2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ตามภาพรวมธุรกิจน้ำตาลที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขณะนี้บริษัทได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าผลผลิตในสัดส่วน 85% ที่ราคา 19.5 เซนต์/ปอนด์ไปแล้ว

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวว่า บริษัทคาดว่าปีนี้กำไรสุทธิน่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ จากปี 57 ที่เคยทำได้ที่ 1,365.76 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/60 สามารถทำกำไรสุทธิได้แล้วราว 412.01 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น และผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายราว 9.4 ล้านกระสอบ รวมถึงบริษัทได้มีการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว 85% โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 19.5 เซนต์/ปอนด์

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจทั้ง 3 กลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจน้ำตาล ที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดราว 70% และที่เหลือจะเป็นธุรกิจเอทานอล โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย

สำหรับธุรกิจน้ำตาลในปีนี้ บริษัทมองทิศทางราคาน้ำตาลน่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 17 เซนต์/ปอนด์ ปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยจากปัจจุบันอยู่ที่ 16 เซนต์/ปอนด์ โดยราคาน้ำตาลยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประเด็น ทั้งการเก็งกำไรกองทุนที่เปลี่ยนฝั่งจากเดิมซื้อเป็นขาย ทำให้ส่งผลกดดันต่อราคาดังกล่าวพอสมควร และยุโรปเริ่มกลับมาส่งออกน้ำตาลทรายขาวมากขึ้น หลังจากถูกลงโทษไม่ให้มีการส่งออก 5 ปีซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้ประเทศบราซิลนำผลผลิตอ้อยมาผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น แทนการผลิตเอทานอล ทำให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ หลังจากที่บราซิลยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายประเทศไทยเอง ก็ได้มีการปรับโครงสร้างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ โดยจะมีการยกเลิกการกำหนดโควต้าน้ำตาลทราย โควต้า ก. คือ น้ำตาลทรายขาวที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 60 เพื่อใช้กับฤดูกาลผลิต 60/61 นั้น

เบื้องต้นกลุ่ม KTIS มองว่า การยกเลิกโควต้า ก. จะทำให้ราคาขายน้ำตาลในประเทศมีเสรีมากขึ้น แต่อาจจะส่งผลกระทบในเรื่องของราคาน้ำตาลที่น่าจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ส่งผลต่อราคาอ้อยต่ำลงไปด้วย แต่ KTIS เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทฯ มากนัก จากมีพันธมิตรอย่างกลุ่มซูมิโตโมจากญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทำตลาดในต่างประเทศ เข้ามาร่วมในทีมขาย ก็น่าจะช่วยให้กลุ่มบริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อไปได้

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ปีนี้ก็มีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบทั้งหมด และจะรับรู้รายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยฯ ก็มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง

"ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เรายังมีการส่งมอบน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนในการส่งออกปีนี้จะอยู่ที่ราว 7.05 ล้านกระสอบ ที่เหลือจะเป็นการขายในประเทศ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวิมวล ก็มีการรับรู้รายได้มากขึ้น จากการขายไฟฟ้าได้ครบทั้ง 3 โรง และธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยก็จะได้รับผลดีจากที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบมาก ทำให้มีปริมาณชานอ้อยมากขึ้น"นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

แท็ก เนชั่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ