นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) คาดว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะลงนามในสัญญากับกลุ่ม BSR ที่ได้รับคัดเลือกดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 16 มิ.ย.นี้
ขณะที่ในวันเดียวกันจะมีการลงนามสัญญาเงินกู้ ลักษณะ Project Finance ของ 2 โครงการกับสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ และการลงนามซื้อรถโมโนเรล จำนวน 288 ตู้ (รถไฟฟ้าสายสีชมพูใช้ 168 ตู้ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองใช้ 120 ตู้) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับลงนามสัญญางานก่อสร้างด้วย
การลงนามสัญญาสัมปทานและลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองนับเป็นครั้งที่ 2 ของ BTS หลังจากได้ลงนามสัญญาสัมปทานและลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิทและสายสีลมเป็นครั้งแรกกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อ 25 ปีก่อน
พร้อมกันนั้น รฟม.ได้เร่งรัดให้กลุ่ม BSR ทำการศึกษาส่วนต่อขยายเส้นทาง ตามข้อเสนอของกลุ่ม เพราะจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
"รฟม.เสนอให้ทางเรารีบทำ Study ไม่มีเวนคืน แต่ต้องทำ EIA ...หลัง ครม.อนุมัติสัญญาหลัก แต่ก็มีส่วนข้อเสนอของเราไป เพราะ TOR รฟม.ให้มา 3 ซอง ซอง 2 ตัดสินแล้วว่าใครชนะ ซอง 3 เป็นสิ่งที่ทางรัฐให้เสนอ หรือขออะไรจากรัฐบาล โดยสิ่งที่เราเสนอต้องรอทำ EIA" นายคีรี กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับส่วนต่อขยายของสายสีชมพูนั้น กลุ่ม BSR เสนอให้ต่อเชื่อมเส้นทางเข้าไปยังศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. ประกอบด้วย 2 สถานี สถานีแรกตั้งอยู่บริเวณอาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ และสถานีที่ 2 บริเวณทะเลสาบ โดยปีที่แล้วมีผู้ใช้บริการศูนย์ประชุมอิมแพคฯ ถึงกว้า 10 ล้านคน และในเมืองทองธานีทีประชากรอาศัยกว่า 150,000 คน
ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง กลุ่ม BSR เสนอขยายเส้นทางต่อไปตามถนนรัชดาภิเษกอีก 2.6 กม.สิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานี N10 (บริเวณปากซอยพหลโยธิน24) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งเสนอเพิ่มอีก 2 สถานี
นายคีรี กล่าวว่า ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางนี้ กลุ่ม BSR จะเป็นผู้ลงทุน โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากส่วนต่อขยายสายสีเขียว โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลือง สามารถเชื่อมต่อกันแล้วเสร็จจะสามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้มากกว่า 1.5 ล้านคน/วัน
นายคีรี คาดว่า จะใช้เวลา 1 ปีครึ่งจะได้ข้อสรุปในส่วนขยายของ 2 เส้นทาง โดยมีการจัดทำ EIA ที่คาดใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี รวมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุส่วนขยายทั้ง 2 เส้นทางในแผนแม่บทรถไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาอนุมัติเห็นด้วย จากนั้นจะมีการลงนามสัญญาในส่วนขยายดังกล่าว ซึ่งส่วนขยายนี้จะก่อสร้างได้แล้วเสร็จได้ทันกับงานสัญญาหลักที่มีระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน หรือ 3 ปี 3 เดือน และได้สัมปทานเดินรถ 30 ปี
ทั้งนี้ ประธานกรรมการ BTS คาดว่าภายใน 3 ปีนี้ BTS จะเดินรถไฟฟ้าด้วยระยะทางที่เพิ่มเป็น 141 กม. จากปัจจุบันเดินรถ 67 กม. โดยเป็นการเพิ่มจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ระยะทาง 64 กม. ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน อีก 7 กม. รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) ราว 3 กม.
นอกจากนี้ BTS ได้เจรจาเข้าบริหารงานเดินรถ และเจรจาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า จำนวน 3 เมือง ในประเทศจีน โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในปีนี้
*มั่นใจทำผลตอบแทนได้ดีกว่า 8%
นายคีรี กล่าวว่า เบื้องต้นคาดการณ์อัตราผลตอบแทน(IRR) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีอัตราเฉลี่ย 8% แต่มั่นใจว่ากลุ่ม BSR จะทำได้ดีกว่านั้น โดยคาดว่าน่าจะได้สูงถึง 10% เพราะมีแผนจะควบคุมค่าใช้จ่าย จากมูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมาจากส่วนของทุน (Equity) จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้ Project Finance
ทั้งนี้ ตาม TOR ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเก็บที่อัตรา 14-42 บาท/เที่ยวคน ณ ปีที่ประมูล แต่เมื่อเปิดให้บริการในปี 63 ก็ต้องพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในการกำหนดอัตราค่าโดยสารในปีที่เปิดให้บริการ ขณะเดียวกันกลุ่ม BSR คาดว่าจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง จะมีจำนวน สายละ 120,000 เที่ยวคน/วันในปีแรกที่เปิดดำเนินการ และมั่นใจว่าการเติบโตเพิ่มขึ้น จากการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้าใหม่
"จริงๆแล้ว อัตราผลตอบแทนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองไม่สูงเลย แต่บริษัทเรารู้จักธุรกิจนี้ดี ไม่ต้องใช้ของ luxury สิ่งสำคัญเชื่อมต่อระบบให้เดินนทางได้สะดวก มีความปลอดภัย ต้นทุนของเราจริงๆอาจต่ำที่ตั้งไว้" นายคีรีกล่าว
นอกจากนี้ กลุ่ม BSR ยังจับกลุ่มกันเหนียวแน่นเพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะเชื่อว่ากลุ่ม BSR มีศักยภาพพร้อม แต่ต้องติดตามความชัดเจนโครงการใน EEC โดยอย่างน้อยโครงการระบบราง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ เป็นต้น ทางกลุ่ม BSR มีความเชี่ยวชาญ โดย BTS มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้ามา 17 ปีแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่ม BSR ประกอบด้วย BTS (ถือหุ้นใหญ่ 75%) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 15% และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 10%
ส่วนประเด็นการเข้าลงทุนในช่อง Now 26 ของบมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG)นายคีรี กล่าวยอมรับว่า เคยเข้าเจรจาเข้าลงทุนจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม มองว่าหากเข้าลงทุนช่อง NOW26 จะช่วยต่อยอดธุรกิจของ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) แต่ก็ต้องพิจารณาว่าไม่ใช่เรื่องราคาอย่างเดียว ต้องดูว่าจะนำไปต่อยอดธุรกิจอย่างไรหรือมีประโยชน์กับ VGI อย่างไรด้วย