บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ร่วมมือกับ Enterprise Asia จัดงาน International CSR Summit 2017 ภาคธุรกิจ สร้างความร่วมมือนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อน (UN Sustainable Development Goals : UNSDG) เป็นกรอบการทำธุรกิจ หวังผลกระทบความยั่งยืนตามเป้าหมายโลก
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCP กล่าวว่า บทบาทของภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดัน UNSDG ซึ่งภาคธุรกิจของประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในประชาคมโลก
ทั้งนี้ บางจากฯได้กำหนดแผนงานตามเป้าหมายของ UNSDG มาขับเคลื่อนโดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่ 13 Climate Change เนื่องจากเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน โดยจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในการผลิตน้ำมัน ในขณะเดียวกัน จะขยายธุรกิจด้านพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศ 182 เมกะวัตต์ และขยายไปลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น 142 เมกะวัตต์ บริหารโดยบมจ.บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท บางจากฯ นอกจากนี้ ได้ลงทุนธุรกิจพลังงานจากลมที่ประเทศฟิลิปปินส์ และลงทุนในธุรกิจชีวภาพ ชีวมวล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและดูแลสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น บางจากฯ จึงได้ร่วมสนับสนุน Enterprise Asia จัดงาน International CSR Summit 2017 ในประเทศไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย รวม 14 ประเทศ ประกอบด้วย บังคลาเทศ จีน อินเดีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย ศรีลังกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเก๊า ญี่ปุ่น และเวียดนาม มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในการนำเป้าหมายความยั่งยืนไปปรับใช้ในกระบวนการทางธุรกิจที่รับผิดชอบ พร้อมด้วยประเทศออสเตรเลีย บรูไนมาเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนา
โดยในปีนี้ งาน International CSR Summit 2017 ได้เชิญนักธุรกิจ นักคิด นักวิชาการ ผู้ทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR และความยั่งยืน จาก 14 ประเทศทั่วเอเชีย มาหารือแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “Sustainability Beyond Borders" สำหรับประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้าน
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า UNSDG คือแนวทางสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือทำร่วมกัน ความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้มีการนำเป้าหมายความยั่งยืนโลกไปปฏิบัติให้เกิดรูปธรรม ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน รัฐบาลของแต่ละประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาค ทั้ง 17 เป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายสุดท้าย คือ การร่วมเป็นพันธมิตรระดับสากลจะเป็นจุดเริ่มในการเชื่อมโยงเครือข่ายขององค์กรที่เกี่ยวข้อง
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงฯมีหน้าที่ดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเป้าหมายที่ 6 เรื่องการจัดการน้ำที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 เรื่องการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 เรื่องการร่วมบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทั่วโลกต้องช่วยกันไม่ให้โลกร้อนเกิน 2 องศา เป้าหมายที่ 14 เรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่ 15 คือ เรื่องความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรบนบก มาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงโดยให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อน
ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขานุการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการสร้างความร่วมมือในการผลักดันเป้าหมายความยั่งยืนในเอเซียว่า ธุรกิจจะสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร จะต้องมีส่วนช่วยดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม คู่กับการมีบรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจ
อนึ่ง Enterprise Asia เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจในระดับภูมิภาค ที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในทวีปเอเชีย ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ โดยมีภารกิจหลัก คือ ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสมอภาค เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรในเอเชีย และสร้างนวัตกรรม โอกาส ความกล้าหาญ ให้คนรุ่นหลัง
Enterprise Asia เป็นผู้จัดโครงการ Asia Entrepreneur Forum โครงการ Industry Dialogue การประกวด Asia Pacific Entrepreneurship Awards และ Asia Responsible Entrepreneurship Awards และสำหรับงานประชุม International CSR Summit 2017 นี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดในประเทศไทย