นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 716.9 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 2 บาท ในช่วงต้นเดือน ก.ค.60 คาดหวังระดมทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ก่อนนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ราววันที่ 19 ก.ค. เพื่อนำเงินส่วนใหญ่ไปใช้คืนหนี้และลงทุนตามแผนงานที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเป็น 2,357 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 64 และพร้อมเดินหน้าขยายเข้าสู่เป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 5,000 เมกะวัตต์ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า
"เป้า 5,000 เมกะวัตต์ เราตั้งไว้ในใจ ตอนนี้ที่นับดูแต่ยังไม่ได้ใส่ไว้ในข้อมูลก็เกือบถึงเป้าแล้ว แต่จะถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ คงในอีก 5 ปีข้างหน้าน่าจะถึง เรามีศักยภาพไปได้ทั้งจากในและต่างประเทศ"นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 716.9 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 27.5% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว โดยในส่วนนี้จะเสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบัน รวมถึงผู้มีอุปการคุณในสัดส่วนไม่เกิน 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% จะเสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ซึ่งล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้น IPO วงเงินไม่เกิน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทหลังการขาย IPO และยังมีนักลงทุนสถาบันอื่นที่ให้ความสนใจจะร่วมเป็น Cornerstone Investor ด้วย
สำหรับกำหนดการเสนอขายหุ้น IPO คาดว่าจะสรุปช่วงราคาเสนอขายราววันที่ 20 มิ.ย. และทำการสำรวจราคาจากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ก่อนเสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะเข้าซื้อขายใน SET ราววันที่ 19 ก.ค. โดยมีบล.ภัทร ,บล.กสิกรไทย ,บล.บัวหลวง ,ดอยช์แบงก์ และ ซีไอเอ็มบี เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้คืนหนี้สถาบันการเงินราว 6-7 พันล้านบาท และใช้คืนหนี้หุ้นกู้ราว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ
ณ สิ้นปี 59 บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 1,626 เมกะวัตต์ และในปีนี้จะมีอีก 2 โครงการพลังน้ำในลาวเข้าระบบใหม่อีกราว 20 เมกะวัตต์ ทำให้สิ้นปี 60 มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 1,646 เมกะวัตต์ และภายในปี 64 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 2,357 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 43 แห่ง ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 1,516 เมกะวัตต์
นางปรียนาถ กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนใน 5 ปี (ปี 60-64) เพื่อใช้ลงทุนตามแผนนั้นมีวงเงินราว 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สามารถ COD โรงไฟฟ้าเพิ่มเป็น 2,357 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะเป็นเงินกู้โครงการ ราว 75% ส่วนที่เหลืออีก 25% มาจากส่วนทุน โดยปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะต้องดำเนินการรวม 5 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 แห่ง ขนาด 120 เมกะวัตต์/แห่ง ซึ่งมีสัญญาซื่อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือแล้ว และโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนโรงเดิมที่จะหมดอายุ จำนวน 3 แห่ง ขนาด 140-160 เมกะวัตต์/แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างรอทำสัญญา PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะรับซื้อไฟฟ้า SPP ทดแทน 30 เมกะวัตต์/แห่ง ส่วนที่เหลือจะเป็นการผลิตเพื่อขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเริ่มทยอยก่อสร้างตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงปี 63
อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนดังกล่าวไม่นับรวมโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมถึงโครงการที่จะเข้าร่วมประมูลในอนาคต โดยล่าสุดบริษัทได้รับคัดเลือกจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 แล้ว ซึ่งเป็นโครงการที่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้รับแน่นอนจำนวน 24 เมกะวัตต์ใน 5 โครงการ และยังมีโครงการที่ต้องเข้าไปลุ้นจับสลากอีก 15 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการ นอกจากนี้ ยังได้เจรจาเพื่อร่วมเป็นผู้สนับสนุนในโครงการของกลุ่มสหกรณ์อีกจำนวนหนึ่งด้วย
พร้อมกันนี้ บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าแบบ SPP Hybrid Firm ที่รัฐบาลเตรียมจะเปิดรับซื้อในอนาคตด้วย ตลอดจนเจรจาเพื่อร่วมดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ รวมถึงให้ความสนใจทำโคงรการโซลาร์รูฟท็อปให้บนหลังคาโรงงานให้กับลูกค้าด้วย
สำหรับโครงการในต่างประเทศ บริษัทยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเสนอขายไฟฟ้า เช่น เซกอง 4 ในลาว จำนวน 300-400 เมกะวัตต์ ,โครงการพลังน้ำในลาว 30 เมกะวัตต์ , โครงการโซลาร์ฟาร์มในมาเลเซีย ที่ล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการกว่า 300 เมกะวัตต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายบริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนเข้าไปในกลุ่ม CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย โดยคาดว่ากำลังการผลิตจากต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 20% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ไม่มากนัก
นางปรียนาถ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/60 บริษัทได้เดินหน้าตามแผนขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศให้ไปสู่เป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ที่ตั้งเป้าไว้ โดยได้ลงนามความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ China Energy Engineering Corporation ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านไฟฟ้ารายใหญ่อันดับต้นของประเทศจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Hybrid ที่จะได้ความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและต้นทุนธุรกิจ
รวมทั้ง การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Poipet PPSEZ ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนา และบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตในประเทศกัมพูชา ซึ่งเบื้องต้นเป็นการทำสายส่งจากสถานีไฟฟ้าปอยเปตไปยังนิคมอุตสาหกรรมปอยเปต และยังเห็นโอกาสในอนาคตที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในนิคมฯปอยเปตในระยะต่อไป หลังจากที่บริษัทเคยทำสำเร็จแล้วในนิคมฯอมตะเบียนหัวในเวียดนามมาแล้ว
ด้านนายนพเดช กรรณสูตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-พัฒนาธุรกิจ ของบี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้มูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.76% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินที่เดิมมีอยู่เฉลี่ย 5.6% ต่อปี ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยได้ปีละ 200 ล้านบาท และบริษัทยังมีวงเงินกู้อีก 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะหาโอกาสในการออกหุ้นกู้ในลักษณะเดียวกันและให้ได้ดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงกันกับรอบที่ผ่านมาด้วย โดยคาดว่าจะทยอยออกหุ้นกู้ในส่วนที่เหลือได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ตามแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินดังกล่าว ทั้งการออกหุ้นกู้และการระดมทุนผ่าน IPO จะทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อทุนลดลงเหลือระดับ 2 เท่าภายในปีนี้ จากระดับ 3.4 เท่าในไตรมาส 1/60 และคาดว่าจะเหลือระดับ 1.5 เท่าใน 3-5 ปีข้างหน้า
ขณะที่การออกหุ้นกู้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็จะสะท้อนไปยังต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับการ COD โรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาอีก 2 แห่งในปีนี้ ก็จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และในปี 61-62 เชื่อว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตก้าวกระโดด ตามโรงไฟฟ้าที่ COD ใหม่ โดยเฉพาะในปี 61 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า COD เพิ่มอีกราว 400 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 30% ซึ่งจะทำให้รายได้เติบโตได้ในทิศทางเดียวกันด้วย และในปี 62 ก็จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า COD เพิ่มอีกเกือบ 100 เมกะวัตต์ด้วย ส่วนกำไรสุทธิก็จะเติบโตตามประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย