โบรกฯเชียร์"ซื้อ"CKP เก็งผลงาน H2/60 ฟื้นจาก H1/60 แนะถือยาวรอไซยะบุรี COD ต.ค.62

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 6, 2017 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) คาดผลประกอบการในครึ่งหลังปี 60 จะฟื้นตัวดีขึ้นจากครึ่งแรกของปีนี้ที่โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 พลาดเป้า แต่เชื่อว่าปริมาณน้ำมากขึ้นในช่วงหน้าฝนจะช่วยให้กำลังผลิตไฟฟ้าดีขึ้น และโรงไฟฟ้า BIC2 เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน มิ.ย.นี้ และปีหน้ารับรู้รายได้เต็มปี

ประกอบกับ ในปัจจัยหนุนในอนาคตที่เดือน ต.ค.62 จะเริ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่มีขนาดใหญ่ 1,285 เมกะวัตต์ (MW) จึงเป็นแหล่งรายได้กำไรหลักของ CKP ในอนาคต จึงแนะให้ลงทุนระยะยาวหุ้น CKP

ส่วนราคาหุ้น CKP ปรับตัวลงมากที่ราคาต่ำสุด 3.00 บาทเมื่อ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนผลประกอบการไตรมาส 1/60 ไปแล้ว ทำให้มี upside ค่อนข้างมาก โดยวานนี้ (5 มิ.ย.) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง +4.49% หรือ +0.14 บาท มาปิดที่ 3.26 บาท

วันนี้ราคาหุ้น CKP เมื่อเวลา 14.37 น.อยู่ที่ 3.22 บาท -1.23% ขณะที่ SET -0.20%

          โบรกเกอร์           คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
          ธนชาต                ซื้อ                3.80
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ     ซื้อเก็งกำไร           3.44
          กสิกรไทย              ถือ                3.40

นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเด็นลงทุนหุ้น CKP คาดว่าผลประกอบการในครึ่งหลังปี 60 จะดีกว่าครึ่งปีแรกที่คาดว่าไตรมาส 2/60 ผลประกอบการจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนน้ำงึมน้อย แต่คาดว่าในไตรมาส 3/60 จะมีปริมาณน้ำมากขึ้นตามฤดูกาลหน้าฝน

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม (Cogeneration) แห่งที่ 2 (BIC2) ที่มีกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในปลายเดือนมิ.ย.นี้ และรับรู้เต็มปีในปี 61

"ผลประกอบการในไตรมาส 2 ไม่ต่างจากไตรมาส 1 ในช่วง 1-2 เดือนนี้มีปริมาณน้ำสะสมดีส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นในไตรมาส 3"

ทั้งนี้ มองภาพการเติบโตในระยะยาว โดยปี 61 จะรับรู้รายได้เต็มปีโรงไฟฟ้า BIC2 และต.ค.ปี 62 จะเริ่ม COD โรงไฟฟ้าไซยะบุรี ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ และรับรู้เต็มปีในปี 63

คาดการณ์กำไรสุทธิปี 60 อยู่ที่ 290 ล้านบาท ปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 470 ล้านบาท แต่ปี 61 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 420 ล้านบาท โดยได้ปรับราคาเป้าหมายที่ 3.44 บาท จากเดิม 3.50 บาท และ แนะนำ Trading Buy

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย คาดว่า ผลประกอบการในไตรมาส 2/60 ยังไม่ค่อยดี แต่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 3/60 จากคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม2 (NN2) และเริ่ม COD โรงไฟฟ้า BIC2 ในปลายมิ.ย.นี้

นอกจากนี้ ราคาที่ปรับลงมาก่อนหน้า ทำให้ยังมี upside อยู่มากทำให้เมื่อวานนี้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทั้งนี้แนะนำ"ถือ"ยังมี upside อยู่ โดยให้ราคาเป้าหมาย 3.40 บาท

ด้าน บล.ธนชาต เชื่อว่า ราคาหุ้นของ CKP ได้สะท้อนผลประกอบการที่อ่อนแอในครึ่งปีแรกไปแล้ว และมองว่ากำไรที่แข็งแกร่งจะกลับมาในครึ่งปีหลัง โดยช่วงวงจรกำไรใหม่ของ CKP จะมาจากโครงการไซยะบุรี (XPCL) ที่จะเข้ามาในช่วงปลายปี 62 และด้วยอัตรากำไร CAGR (59-63) ที่ 135% และ PEG ที่ 0.4X รวมถึงโอกาสที่หุ้นจะมี upside ที่ 23% ปรับคำแนะนำสำหรับ CKP เป็น "ซื้อ" เนื่องจากมี valuation ที่ดี

"เรามอง CKP ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการลงทุนระยะยาว เนื่องจากราคาหุ้นได้ตกลงมา 15% YTD และยังมีโอกาส upside อีก 23% สำหรับประมาณการเดิมของเราที่ 3.80 บาท/หุ้น เราปรับคำแนะนำเป็น "ซื้อ"(จากถือ) แต่เราลดประมาณการกำไรสุทธิในปี 60 ลง 21% เนื่องจากเรามองว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่อ่อนแอเนื่องจากระดับน้ำที่ต่ำ ซึ่งส่งผลให้กำลังไฟฟ้าขายที่ต่ำสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 (NN2) ซึ่งมีกำลังการผลิต 615MW (CKP เป็นเจ้าของ 42%)"

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่มีกำลังการผลิตที่ 1,285 MW (เป็นเจ้าของ 30%) ใน ลาว (52% ของราคาเป้าหมายของเรา) ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 78% ในช่วงปลายเดือนเม.ย. โดยได้เพิ่มความมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเปิดดำเนินการได้ตามแผนในวันที่ 29 ต.ค. 62 CKP มองว่า XPCL จะเปิดดำเนินการก่อนกำหนดการได้แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะบันทึกรายได้อย่างไร ในการคำนวณ XPCL จะสามารถสร้างกำไรสุทธิได้ 700-900 ล้านบาท ต่อปีไห้แก่ CKP เมื่อโรงไฟฟ้าได้ดำเนินการเต็มประสิทธิภาพเต็มปีในปี 63

นอกจากนี้ CKP เปิดเผยว่า CK Group ได้เซ็นสัญญา MOU กับรัฐบาลลาวเพิ่มที่จะศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (1.3-1.5GW) โดยมีเป้าหมายที่จะขาย 90% ของกำลังการผลิตให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย CK GROUP ตั้งใจที่จะถือหุ้นมากกว่า 50% ในโครงการนี้ และ CKP มองว่าการศึกษาโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ปีนี้ ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองกับกฟผ. แต่มองว่าเรื่องนี้ยังไกล โดยสำหรับความเสี่ยง หากการศึกษามีผลลัพธ์เป็นลบต่อโครงการ จะทำให้เกิดการ write-off ค่าใช้จ่ายเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการน้ำบากในปี 59


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ