นายประจักษ์ รัศมี ทนายความที่ได้รับการมอบหมายจากผู้ถือหุ้นรายย่อย บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในวันนี้ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหาย โดยศาลนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 3 ก.ค.60
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 เป็น สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ก.ล.ต. ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 11 มีตำแหน่งเป็นกรรมการ ก.ล.ต. และจำเลยที่ 12 มีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ก.ล.ต.
โจทก์ ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึง 12 เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูและหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IFEC เนื่องจากระหว่างเดือน ธ.ค.59-มิ.ย.60 ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เข้าร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC แต่จำเลยทั้ง 12 กระทำการโดยมีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ในช่วงเดือน ธ.ค.59 นายชัยวัฒน์ พิทักษ์รักธรรม ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีกรรมการ IFEC ลาออก และกรณีที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) เป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งห้ามซื้อขายหุ้นชั่วคราว (SP) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.60 จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการทุกเดือน และได้รับเงินจากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิ (IFEC-W1) อีกประมาณ 37 ล้านบาท แต่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ จนถึงปัจจุบันบริษัทผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทุกประเภทเป็นเงินประมาณ 3 พันล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ กรรรมการ IFEC ที่เหลืออยู่ ซึ่งมีจำนวนไม่ครบองค์ประชุม ได้ทำธุรกรรมนำหุ้นของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ IFEC ที่ถือหุ้น 51% ในโรงแรมดาราเทวี คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทไปจำนำค้ำประกันการชำระหนี้ตั๋ว B/E ที่มีจำนวนเพียง 100 ล้านบาทในวันที่ 19 ธ.ค.59 ทั้งที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่มีอำนาจกระทำการได้ และต่อมาปล่อยให้ตั๋ว B/E ผิดนัดชำระหนี้
และยังทำธุรกรรมกู้ยืมเงินจาก บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) เป็นเงิน 50 ล้านบาท พร้อมกับนำหุ้น IFEC ที่ถืออยู่ในบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด ไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ซึ่งคณะกรรมการไม่เคยรายงานหรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด และหากถูกบังคับจำนำย่อมทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก
ต่อประเด็นดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าคณะกรรมการ IFEC มีเจตนาปกปิดข้อมูล ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่อาจไว้ใจได้ว่าคณะกรรมการบริษัทจะมีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินออกไปอีกหรือไม่ และยังไม่สามารถปิดงบการเงินประจำปี 2559 รวมถึงงบไตรมาส 1/60 ต่อ ก.ล.ต. และบริษัทฯได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นงบต่อ ตลท.มาแล้วหลายครั้ง ซึ่ง ก.ล.ต.ก็ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ
ในช่วงเวลานั้น IFEC ยังไม่ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนด นับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.59 ซึ่งผ่านมาแล้วมากกว่า 6 เดือน ส่งผลให้ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.60 จนถึงปัจจุบัน
อีกทั้ง ก.ล.ต.ยังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยให้คณะกรรมการ IFEC ทำผิดข้อบังคับของบริษัทเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นอันเป็นการแสวงหาอำนาจในการบริหาร เพื่อควบคุมอำนาจการบริหารบริษัท แบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ไม่อาจอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัทได้ เนื่องจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/60 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.60
และการประชุมสามัญประจำปี 60 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.60 ก.ล.ต.ปล่อยให้นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ในฐานะประธานกรรมการ และประธานในที่ประชุมใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริษัทฯ โดยฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท โดยกำหนดให้ใช้วิธีการลงคะแนนแบบสะสม (Cumulative voting) ที่ผู้ถือหุ้นออกเสียงได้หนึ่งหุ้นคูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือก ทั้งที่ขัดต่อข้อบังคับของบริษัท ซึ่ง ก.ล.ต.ทราบถึงการกระทำผิดดังกล่าวเป็นอย่างดี เนื่องจากส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ครั้ง และตัวแทน ก.ล.ต.ก็ได้โต้แย้งในที่ประชุมว่าการลงคะแนนดังกล่าวไม่ชอบด้วย
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ IFEC สำนักงาน ก.ล.ต.ได้รับเรื่องร้องเรียนหลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขปัญหาตามคำร้องเรียนแต่อย่างใด การกระทำของคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการ IFEC ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยได้กระทำไปเพื่อควบคุมอำนาจการบริหารกิจการบริษัทไว้ และจงใจปกปิดการบริหารกิจการของบริษัท ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ปราศจากความระมัดระวัง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 แต่สำนักงานก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล กลับเพิกเฉย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่เป็นการผิดกฎหมาย และข้อบังคับของคณะกรรมการบริษัท IFEC ผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 12 คน"ทนายความ ระบุ