คมนาคม สั่ง ITD เข้มป้องกันอุบัติเหตุสร้างรถไฟสายสีแดง-"เปรมชัย"เล็งเร่งงานหลังก่อสร้างชะงักเสี่ยงล่าช้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 14, 2017 09:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมชคมนาคม เรียกหารือนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เกี่ยวกับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เกิดเหตุเหล็กฉาบปูนตกใส่รถยนต์เสียหาย

นายพิชิต กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุครั้งล่าสุดก็ได้สั่งให้ ITD หยุดงานก่อสร้างในที่สูงไว้ก่อน ซึ่งผู้บริหาร ITD ชี้แจงว่าจุดก่อสร้างดังกล่าวจำเป็นต้องเปิดให้มีการสัญจรด้านล่าง ดังนั้น จึงสั่งให้เปลี่ยนอุปกรณ์ป้องกันของตกหล่น จากสแลนตาข่ายเป็นวัสดุทึบ เช่น ผ้าใบหรือไม้อัด เพื่อป้องกันกรณีของหล่นแล้วทะลุลงมาด้านล่าง พร้อมทั้งกำชับมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดผู้บริหาร ITD ยอมรับว่าจะต้องเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นแม้ว่าที่ผ่านมาจะระมัดระวังมากแล้ว พร้อมทั้งยืนยันที่จะดูแลชดเชยเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายทันทีอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และพอใจ โดยไม่รอกระบวนทางกฎหมาย

ส่วนเหตุโครงสร้างของ support launcher รถไฟสายสีแดงหล่นบริเวณหน้าวัดดอนเมืองจนทำให้คนงานเสียชีวิต 3 รายในช่วงปลายเดือน เม.ย.60 นั้น ปัจจุบันยังให้ ITD หยุดการก่อสร้างในจุดดังกล่าว และอยู่ในขั้นตอนการสรุปแนวทางการตรวจสอบจากคณะกรรมการผู้มีอำนาจสั่งหยุดงาน (WSC) ซึ่งมีผู้แทน องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA), วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) , กระทรวงแรงงาน, รฟท. และตรวจสอบ launcher ที่มีประมาณ 4-5 ตัว และหากพบว่ามีความพร้อมก็จะอนุมัติให้เริ่มทำงานได้

อย่างไรก็ตาม นายเปรมชัย กล่าวยอมรับว่าการหยุดก่อสร้างในจุดที่เกิดอุบัติเหตุอาจทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไป ซึ่งผู้รับเหมาจะต้องปรับแผนเพื่อเร่งงานก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญาหากไม่ทันจะต้องถูกปรับ และไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุของต่อสัญญาได้ เพราะถือเป็นความผิดของผู้รับจ้างเอง จึงอาจจะต้องเพิ่มคน เพื่อเครื่องมือในงานที่ล่าช้า

อนึ่ง ITD เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 สายสีแดงมูลค่า 21,235.4 ล้านบาท เริ่มสัญญาวันที่ 4 มี.ค. 56-10 ก.พ. 60 (1,440 วัน) ได้รับการขยายเวลาก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยสัญญาจะสิ้นสุดในเดือนก.ค. 60 และอยู่ระหว่างพิจารณาขยายออกไปอีกจนถึงเดือนก.พ. 61

นายพิชิต กล่าวยอมรับว่า แม้จะมีการกำชับในเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างตามหลักมาตรฐานสากลแล้ว แต่ยังมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้สั่งให้เข้มงวดมาตรการมากขึ้นอีก โดยให้ผู้ตรวจสอบทั้ง 3 ระดับ คือ วิศวกรของผู้รับจ้าง, ที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง (CSC) และ คณะกรรมการผู้มีอำนาจสั่งหยุดงาน (WSC) เพิ่มความถี่ของการตรวจสอบ หรือให้มีการตรวจซ้ำโดยเฉพาะจุดที่ยังไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัย

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการป้องปรามจะมีการพิจารณาเพิ่มบทลงโทษในสัญญาก่อสร้างในอนาคต เป็นมาตรการทั้งด้านวินัย (ปรับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบงาน) , บทลงโทษด้วยการปรับเป็นเงิน โดยกำหนดระดับของเหตุการณ์ เช่น กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือมีผู้เสียชีวิต ,การชะลอการจ่ายค่างวด ส่วนกรณีที่เหตุร้ายแรง อาจจะถึงขั้นขึ้นบัญชีดำ (Black List) ซึ่งทาง รฟท.จะเร่งพิจารณาข้อกฎหมายก่อนสรุปและนำมาเขียนในสัญญาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ