ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ภัทรลิสซิ่ง (PL) คงเดิมที่ระดับ “A-"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์และความสามารถของคณะผู้บริหารในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระบบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่เข้มงวดซึ่งทำให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีแม้ว่าจะมีปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ของลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และการตั้งสำรองในจำนวนที่มากขึ้นจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ โดยปัจจัยเหล่านี้จำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
PL ยังคงรักษาสถานะผู้นำในตลาดเช่าดำเนินงานรถยนต์เอาไว้ได้โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง บริษัทให้บริการเช่าดำเนินงานและเช่าการเงินแก่ลูกค้านิติบุคคลที่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิรวม (สินทรัพย์ให้เช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงานสุทธิและลูกหนี้สัญญาเช่าทางการเงิน) ที่ระดับ 12,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% จากระดับ 11,829 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 และกลับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 11,771 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2560
การมีเครือข่ายบริการเข้มแข็งที่ครอบคลุมทั่วประเทศช่วยเพิ่มระดับความสามารถของบริษัทในการให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนี้ การพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ให้ประโยชน์แก่บริษัทจากการประหยัดต่อขนาด แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าทั้งในด้านการผิดนัดชำระหนี้และการพึ่งพิงรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้บรรเทาลงจากการที่ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทมีคุณภาพเครดิตที่ค่อนข้างดี บริษัทมีความพยายามในการกระจายความหลากหลายของฐานลูกค้าซึ่งความก้าวหน้าของความพยายามดังกล่าววัดได้จากสัดส่วนของธุรกิจที่ได้จากลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 20 ราย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานและสินเชื่อคงค้างภายใต้สัญญาเช่าการเงินแล้วปรากฏว่าลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 20 รายแรกมีสัดส่วนประมาณ 41% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ ไตรมาสแรกของปี 2560 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มีการกระจุกตัวสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
หลังจากที่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปี 2549 แล้ว ตัวแทนของเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งเข้ามามีบทบาทโดยผ่านช่องทางคณะกรรมการบริษัทก็ได้ให้การสนับสนุนความพยายามในการพัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงของบริษัท ทั้งนี้ ระบบการจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้เมื่อมีการขยายธุรกิจไปสู่สินทรัพย์ประเภทอื่นซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์ประเภทรถยนต์ ความพยายามดังกล่าวสะท้อนจากความสามารถในการรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี จากปัญหาลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงในปี 2559 บริษัทจึงมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองมากถึง 157 ล้านบาทเพื่อรองรับสินทรัพย์ที่มีปัญหาดังกล่าว
ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2558 ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคารถยนต์มือสอง ทั้งนี้ บริษัทมีผลกำไรน้อยลงจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า ความต้องการรถยนต์มือสองในปี 2556 ลดต่ำลงมากเนื่องจากนโยบายด้านภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกของรัฐบาลได้กระตุ้นยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงปี 2555-2556 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคารถยนต์มือสองตกต่ำลงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและตกต่ำที่สุดในปี 2557 แต่หลังจากนั้นราคาก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การที่ราคาจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติได้นั้นยังไม่แน่นอนและอาจต้องใช้เวลานาน
บริษัทต้องการลดผลกระทบจากราคารถยนต์มือสองที่ลดลงโดยพยายามเลื่อนการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดอายุสัญญาเช่าบางส่วนออกไปด้วยการต่ออายุสัญญาเช่า รวมทั้งการนำรถยนต์ที่หมดอายุเช่าดังกล่าวกลับมาให้เช่าระยะสั้นเพื่อเลื่อนเวลาในการจำหน่ายรถยนต์ออกไป นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามจำหน่ายรถยนต์ที่หมดอายุสัญญาเช่าโดยผ่านช่องทางการขายปลีกไปสู่ผู้ซื้อโดยตรงด้วย ซึ่งวิธีนี้จะได้ราคาที่สูงกว่าช่องทางปกติของบริษัทคือการประมูลขายรถจำนวนมากในคราวเดียว แม้ว่าบริษัทจะพยายามลดผลกระทบดังกล่าวด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว แต่บริษัทก็ยังมีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าเพียง 49 ล้านบาทในปี 2556 และมีผลขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าจำนวน 21 ล้านบาทในปี 2557 และ 16 ล้านบาทในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ผลของราคารถยนต์มือสองที่เริ่มดีขึ้นก็ทำให้บริษัทกลับมามีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าอีกครั้งจำนวน 63 ล้านบาทในปี 2559
บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงจาก 205 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ 140 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงและขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาเช่า ในปี 2558 บริษัทยังคงขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาเช่า แต่ต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและการเพิ่มทุนก็ช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 171 ล้านบาท แม้ว่าในปี 2559 จะมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้ที่มีปัญหา แต่กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่บริษัทได้รับจากการลงทุนซื้อสินทรัพย์ให้เช่าใหม่ก็ช่วยทำให้กำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% จากปีก่อน สำหรับไตรมาสแรกของปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 245% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 16 ล้านบาท กำไรที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่บริษัทได้รับจากการลงทุนซื้อสินทรัพย์ให้เช่าใหม่
ในเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่อีกจำนวน 447 ล้านบาทโดยการขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม การเพิ่มทุนดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ต่ำกว่าระดับ 4 เท่า โดยลดลงจากระดับ 5 เท่า ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งเงินทุนใหม่ดังกล่าวช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทได้ต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าบริษัทจะมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยจากภาวะตลาดรถยนต์มือสองและราคารถมือสองที่ตกต่ำลง นอกจากนี้ ยังคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะดีขึ้นจากการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและการลดผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ที่หมดอายุสัญญาเช่าด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับขึ้นหากบริษัทยังคงเป็นผู้นำในตลาดเช่าดำเนินงานรถยนต์และสามารถมีผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบได้หากมีปัจจัยที่ทำให้ระดับผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้ค่าเช่าที่ลดลงอย่างมาก คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง และการขยายขนาดของสินทรัพย์ให้เช่าโดยการก่อหนี้เพิ่มอย่างมาก