นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) คาดว่า จะสามารถทยอยรับรู้รายได้โครงการระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) จากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ตั้งแต่ปี 61-65 หลังจากวันนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาเช่าระบบ E-Ticket จำนวน 2,600 คัน กับ ขสมก.มูลค่าโครงการ 1,665,000,000 บาท ระยะสัมปทาน 5 ปี
"จะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 61-65 จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้ เนื่องจาก ขสมก.ขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา จากเดิมจะรับเงินหลังติดตั้งระบบบนรถเมล์ 200 คันแรก แต่เปลี่ยนเป็นชำระเงินให้หลังติดตั้งระบบเสร็จครบ 2,600 คันหรือหลังจากนี้ 330 วัน โดยจะได้รับเป็นค่าเช่ารายเดือน"
ในการประมูลงานในครั้งนี้บริษัทร่วมกับพันธมิตรอีก 4 ราย ได้แก่ บริษัท จัมป์ อัพ จำกัด, บริษัท เอเซนเทค(ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด และ Tmoney จากประเทศเกาหลี ซึ่งแต่ละองค์กรมีความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะทาง และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการร่วมกันทำงานโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทุกประการ
“โครงการนี้จะมีการติดตั้งระบบ e-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box ในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. จำนวน 2,600 คัน ตามมาตรฐานบัตรร่วมของกระทรวงคมนาคม ระยะเวลาสัมปทานเช่า 5 ปี ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนกรุงเทพฯ เพื่อทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายด้วย โดยภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ต้องมีการติดตั้งระบบ e-ticket สำหรับรถโดยสารประจำทาง จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คัน และ ภายใน 180 วัน ต้องติดตั้งรวม 800 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ระบบ e-ticket สามารถใช้งานได้ตั้งแต่อุปกรณ์บนรถโดยสารประจำทาง ระบบสารสนเทศที่เขตการเดินรถที่ส่วนกลางของ ขสมก. และกระทรวงคมนาคม" นายสุรเดช กล่าว
นายสุรเดช กล่าวว่า บริษัทจะเข้าร่วมประมูลรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันที่ราคากลางเดิม 4,021 ล้านบาท แต่หากมีการปรับราคากลางไปเป็นราคาที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เคยประมูลได้ที่ 3,389 ล้านบาท หรือต่ำลง 600 กว่าล้านบาทจากราคากลาง บริษัทคงไม่สามารถยื่นประมูลได้ เพราะมองว่าเป็นราคาที่ไม่มีใครทำได้ หรือหากจะทำได้ก็คงเป็นการขายตัวรถให้อย่างเดียวไม่สามารถดูแลซ่อมบำรุงได้ ซึ่งก็จะผิดเงื่อนไขสัญญา
"บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์คงทำไม่ได้ และเป็นการทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้วยเพราะรถจะไปเสียกลางทางแล้วไม่มีคนดูแล"นายสุรเดช กล่าว
ขณะที่บริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถเมล์ไฟฟ้า 200 คันด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้มีซัพพลายเออร์จากประเทศจีนมาหารือด้วย ซึ่งรถเมล์ไฟฟ้าราคาเฉลี่ย 12-15 ล้านบาท/คัน สาเหตุที่มีราคาแพงเนื่องจากราคาแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง
นายสุรเดช กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะมีกำไรจากการที่ขาดทุนสะสมจะหมดไปและคาดว่าจะสามารถจ่ายปันผลได้ในปีหน้า โดยกำไรจากการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนการซื้อมาขายไปจะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3-5% ซึ่งตอนนี้งานซื้อมาขายไปค่อนข้างมาก
ขณะที่ทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% จากปีก่อน โดยเริ่มเห็นรายได้เข้าในช่วงครึ่งปีหลังจากที่มีการส่งมอบงาน เช่น ตะวันออกกลาง เวียดนาม และงานในประเทศส่วนหนึ่ง และยังมีงานที่รอประมูลของ บมจ.การบินไทย (THAI) มูลค่า 140 ล้านบาท, งานตะวันออกกลางประมาณ 300 ล้านบาท, รถเมล์ NGV ขสมก.และงานกองทัพด้านยุทโธปกรณ์ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 600 ล้านบาท