นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เงินทุนจากต่างประเทศยังไม่ได้ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทยมากนักในปีนี้ เนื่องจากปีก่อนดัชนีปรับตัวขึ้นไปกว่า 20% ขณะที่ดัชนี MSCI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3% โดยปีนี้ MSCI ปรับตัวขึ้นไปถึง 14% แต่ SET ปรับตัวขึ้นได้เพียง 1.8%
สิ่งที่เป็นกังวลต่อตลาดหุ้นไทย คือ ตั้งแต่ปี 55-58 เงินลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยติดลบกว่า 380,000 ล้านบาท จากนั้นในปี 59 ปรับตัวเป็นบวกราว 78,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้เงินลงทุนต่างชาติยังหายไปจำนวนมาก น่าจะมีปัจจัยมาจากมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทย ,โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียนไทยและบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าตลาด และบริษัทจดทะเบียนไทย ได้นำออกเงินไปลงทุนในต่างประเทศเป็ฯจำนวนมาก ดังนั้นตลาดทุนไทยจะต้องแสวงหาโอกาสในการปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจให้ตอบโจทย์ของนักลงทุนต่อไป
"เงินที่ยังไม่เข้ามาในตลาดทุนไทย เพราะนักลงทุนต่างชาติยังหาบริษัทที่ตอบโจทย์ไม่เจอ ทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์จากเงินเหล่านั้นที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ แต่ยังคงเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่อย่างน้อยยังมีเงินไหลเข้าไปในตลาดตราสารหนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะยาว"นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มจำนวน 0.25% และมีการส่งสัญญาณในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ อีก 0.25% และเฟดก็มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 61-62 จำนวน 3 ครั้งต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยน่าจะขยับขึ้นราว 3% ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ขณะที่เฟดได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.1% เป็น 2.2% และอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.3% จาก 4.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อมองว่ายังคงชะลอตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% แต่จะกลับมาอยู่ในระดับ 2% ได้ในระยะกลาง ทำให้มีการปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในปีนี้ลดลงจาก 1.9% เป็น 1.7% ซึ่งมองว่าการที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ส่งสัญาณชะลอตัว ก็น่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ทิศทางค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้
สิ่งที่น่าจับตาคือ สหรัฐจะเริ่มมีการปรับลดงบดุลจากการขายสินทรัพย์ต่างๆ โดยจะมีการกำหนดเพดานมูลค่าสินทรัพย์สูงสุดที่จะปล่อยให้หมดอายุ ส่วนสินทรัพย์ที่จะหมดอายุเกินกว่าเพดานจะนำกลับไปลงทุนใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นลดงบดุลที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน และปรับลดงบดุลเพิ่มขึ้นไปจนถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน จากงบดุลที่มีอยู่กว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ด้วย ทำให้มองว่ายุโรป และญุ่ปุ่น อาจจะต้องแบกรับภาวะเศรษฐกิจโลกหรือไม่
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูในเรื่องของความเสี่ยงทางการเมืองสหรัฐฯ หรือการถอดถอนประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบาบต่างๆ เช่น นโยบายการลดภาษี
นางวรวรรณ ยังให้ความเห็นถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลังเสนอให้มีการแยกส่วนงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุนออกจากโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ว่า เห็นด้วยในบางกรณี คือ การแยกส่วนงานของ ตลท.โดยตลท.ควรจะทำหน้าที่ที่มุ่งเน้นการทำโอเปอเรชั่นทุกอย่าง และพัฒนา เพื่อรองรับโอกาสในอนาคต และแยกในส่วนงานแลกเปลี่ยนการซื้อขายหุ้นออกมา โดยให้มีเงินจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จำนวน 8,000 ล้านบาท
ส่วนประเด็นที่ไม่เห็นด้วย คือ การที่ตลท.จะต้องจ่ายเงินรายปีให้กับ CMDF ไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี และในเรื่องของโครงสร้างคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องเงินกองทุนที่จะมาจากหลายส่วน เช่น ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์เป็นประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ มองว่าบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการดูแลต้องไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของการเมือง แต่ควรจะมาจากบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดทุนไทย ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะมาจากภาครัฐหรือเอกชน