ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) ที่ระดับ “BB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอของบริษัทในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแรง ความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยาวนาน และประวัติผลงานในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิต อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตถูกลดทอนโดยแนวโน้มที่อ่อนแอของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทย รวมถึงแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและการตลาดที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างหนี้สินต่อส่วนทุนที่สูงเนื่องจากวงจรกระแสเงินสดที่ยาวนาน การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและประวัติผลการดำเนินงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จำกัดของบริษัทด้วย
บริษัทอีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค ก่อตั้งในปี 2542 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ภายในบ้านในประเทศไทย สินค้าเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทผลิตจากปาร์ติเคิลบอร์ด (Particle Board) และไม้ยางพารา ในปี 2559 รายได้จากเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากปาร์ติเคิลบอร์ดคิดเป็นประมาณ 71% ของยอดขายรวมของบริษัท ในขณะที่สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ยางพาราคิดเป็นประมาณ 22% ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากการจำหน่ายกระดาษปิดผิว ไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง และจากร้านค้าปลีกซึ่งซื้อแฟรนไชส์มาจาก Can Do Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment -- MAI) ในปี 2556 ครอบครัวสุขสวัสดิ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโดยถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 63% ของหุ้นทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2560
ในปี 2539 บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมด 4 ช่องทางหลักซึ่งประกอบด้วย การผลิตและจำหน่ายตามคำสั่งซื้อ (Made-to-order) คิดเป็น 60% ของรายได้รวมจากเฟอร์นิเจอร์) ช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทย (Modern Trade) 30% โชว์รูมของบริษัทเอง7% และร้านค้าปลีกรายย่อย (Dealer) อีก 3% เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตตามสั่งเกือบทั้งหมดนั้นบริษัทส่งออกไปยังผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน บริษัทก็จัดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเองผ่านทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยด้วย เช่น โฮมโปร บิ๊กซี เมกาโฮม ไทยวัสดุ และเทสโก โลตัส บริษัทมีโชว์รูมอีก 16 แห่งสำหรับวางจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยางพาราและไม้จริงชนิดอื่นๆ ทั้งที่จัดหามาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายสินค้าระดับล่าง (Fighting Brand) ผ่านทางร้านค้าปลีกรายย่อย ทั้งนี้ รายได้จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% และ 44% ของรายได้รวมของบริษัท ตามลำดับ
บริษัทเป็นผู้ผลิตขนาดกลางและอยู่ในธุรกิจมานานกว่า 20 ปี ตำแหน่งการตลาดของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับปานกลางโดยพิจารณาจากขนาดของรายได้ ขอบเขตสินค้าที่นำเสนอ และความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมาจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแรงและความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกับบริษัทค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย การจัดจำหน่ายสินค้าผ่านลูกค้าเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงลูกค้าปลีกได้ทั่วประเทศซึ่งส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อนึ่ง ในการประเมินอันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงการลดต้นทุนการผลิตและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทดีขึ้นด้วย
ความเข้มแข็งของอันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากความอ่อนไหวของบริษัทที่มีต่ออุปสงค์ด้านอุตสาหกรรมที่ซบเซาในประเทศไทย ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทยังถือว่าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักโดยเฉพาะการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา และเนื่องจากบริษัทมีการพึ่งพาช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลัก อัตรากำไรจากการดำเนินงานจึงได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นของค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและการตลาดซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับร้านค้าปลีกสมัยใหม่
อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากโครงการพลังงานหมุนเวียน 2 โครงการที่บริษัทกำลังจะลงทุน สำหรับโครงการแรกนั้น บริษัทได้ก่อตั้ง บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 50:50 เพื่อให้ทำหน้าที่ซื้อกิจการของ บริษัท ไพร์ซ ออฟ วู้ด กรีน เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 7.5 เมกะวัตต์และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์เป็นระยะเวลา 20 ปี โครงการได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าชนิด Feed-in-Tariff (FiT) ที่ 4.24 บาทต่อหน่วยและจะได้รับอัตรา FiT Premium ที่ 0.3 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 8 ปี หลังจากชำระการลงทุนด้วยเงินสดและการแลกเปลี่ยนหุ้นแล้ว บริษัทจะถือหุ้นในบริษัทเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำนวน 33.37% ด้วยมูลค่าการลงทุนในส่วนของบริษัทประมาณ 142 ล้านบาท โดยโครงการมีแผนจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2560
โครงการที่ 2 คือโครงการมินบู (Minbu) ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 220 เมกะวัตต์ โครงการนี้ตั้งอยู่ในเขตการปกครองมาเกว (Magway) ในประเทศพม่า โดยบริษัทจะซื้อหุ้นจำนวน 20% ของโครงการ โครงการดังกล่าวมีสัญญา PPA กับการไฟฟ้าแห่งประเทศพม่า (ปัจจุบันคือ Electric Power Generation Enterprise -- EPGE) จำนวน 170 เมกะวัตต์เป็นระยะเวลา 30 ปี โครงการจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบคงที่ที่ 0.1275 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหน่วย บริษัทจะต้องลงทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,007 ล้านบาทสำหรับโครงการดังกล่าว โดยจะประกอบด้วยเงินค่าซื้อหุ้นจำนวน 310 ล้านบาทและค่าพัฒนาโครงการอีกจำนวน 696 ล้านบาท โครงการแบ่งเป็น 4 ระยะและจะใช้เวลาการก่อสร้างทั้งหมด 4 ปี ซึ่งระยะแรก (50 เมกะวัตต์) คาดว่าจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าได้ในไตรมาสแรกของปี 2561
ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจะสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอและขยายฐานรายได้ที่หลากหลายยิ่งขึ้นให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินโครงการหลายด้านทั้งในด้านการก่อสร้าง การปฏิบัติงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงด้านการเมืองและความเสี่ยงของประเทศในประเทศพม่า อนึ่ง มูลค่าการลงทุนรวมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับฐานทุนของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ บริษัทวางแผนในการจัดหาเงินสำหรับการลงทุนด้วยวิธีผสมผสานทั้งโดยการออกหุ้นกู้ใหม่ การใช้ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) และการขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อที่จะรักษาระดับโครงสร้างหนี้สินต่อส่วนทุนของบริษัทให้มีความสมดุลกัน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายได้ของบริษัทเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 6.5% หลังจากการปรับปรุงสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็เพิ่มขึ้นโดยตลอดและเพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยของอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและการตัดจำหน่าย) อยู่ที่ 12.1% สำหรับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และในปี 2559 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก็ลดลงเหลือ 10.6% เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้า รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายจากการโฆษณาและสนับสนุนการขายของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และการเปิดสาขาใหม่ ๆ ของร้าน Can Do บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2559อยู่ที่ 94 ล้านบาทซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 118 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2560 ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากยอดขายที่เริ่มฟื้นตัว โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มกลับมาอยู่ที่ระดับ 12.9% ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 42 ล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
โครงสร้างหนี้สินต่อส่วนทุนของบริษัทอ่อนแอ บริษัทจำเป็นต้องใช้หนี้สินวงเงินระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของยอดขายของบริษัทเนื่องจากบริษัทมีวงจรกระแสเงินสดที่ค่อนข้างยาว หลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อสาธารณชนครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO) ในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 58% ณ เดือนธันวาคม 2556 เป็น 63.9% ณ เดือนมีนาคม 2560 ยอดเงินกู้คงค้างเพิ่มจาก 476 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 751 ล้านบาทในปี 2558 ก่อนที่จะพุ่งขึ้นเป็น 1,195 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2560 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทก็ด้อยลง โดยเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (หลังปรับด้วยตัวเลขย้อนหลังเต็มปี) ลดลงเหลือ 8% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่สูงกว่า 15% ในช่วงก่อนปี 2558
ในอนาคตสมมุติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทจะสามารถเติบโตในระดับปานกลางที่ประมาณ 5%-7% ต่อปี ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานจะทรงตัวอยู่ในช่วง 10%-13% อย่างไรก็ตาม การลงทุนใหม่มีแนวโน้มที่จะทำให้โครงสร้างหนี้สินต่อส่วนทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 750 ล้านบาทในปี 2560 และจะอยู่ระหว่าง 200-250 ล้านบาทในระหว่างปี 2561-2562 ถึงแม้ว่าบริษัทอาจจะพิจารณาในเรื่องการระดมทุนใหม่ แต่ก็ยังคงมีความไม่แน่นอนในปัจจัยด้านระยะเวลาและขนาดของเงินทุนที่บริษัทจะได้รับ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงได้ทำการประเมินในเชิงอนุรักษ์นิยมโดยการพิจารณาเฉพาะการเพิ่มทุนจากการใช้ใบสำคัญแสดงสิทธิซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 105 ล้านบาท จึงทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทน่าจะอ่อนแอลงโดยอาจจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 70% โดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5% ในระหว่างปี 2560-2562 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าความสำเร็จในการเพิ่มทุนใหม่จะเป็นปัจจัยบวกต่อสถานะเครดิตของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทจะยังสามารถเติบโตได้ในระดับปานกลางและบริษัทจะยังคงรักษาอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในช่วง 10%-13% ได้ต่อไป ในขณะที่ช่องทางการจำหน่ายสมัยใหม่จากทั้งประเทศญี่ปุ่นและไทยจะยังคงเป็นช่องทางหลักของบริษัท อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประสบความสำเร็จตามคาดในขณะที่บริษัทยังคงรักษาโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อ่อนแอกว่าที่คาดอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลานาน และ/หรือโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดการขาดทุนจำนวนมากเป็นระยะเวลานานด้วยเช่นกัน