AOT วางเป้า Big Change ดันรายได้ Non-Aero เพิ่มแตะ 50% ปี 64 เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์-เล็งพัฒนาโครงการใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 21, 2017 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)หรือ ทอท. รุกขยายเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่กิจกรรมการบิน (Non-Aero) เพื่อสร้างรายได้ประจำที่มั่นคง รวมทั้งให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และช่วยสนับสนุนการสร้างผลกำไร ตั้งเป้า Non-Aero ขยับสัดส่วนรายได้ขึ้นป็น 50% ในงวดปี 64 จาก 43% ในปัจจุบัน ด้วยแนวทางพัฒนาท่าอากาศยานทุกแห่งให้มีสัดส่วนพื้นที่พาณิชย์ราว 10% พร้อมไปกับการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งผุดโครงการแอร์พอร์ตซิตี้หากได้ข้อสรุปการเจรจาอัตราการเก็บส่วนแบ่งรายได้ของกรมธนารักษ์ที่คาดรู้ผลเดือน ก.ย.นี้

ส่วนรายได้จากธุรกิจการบินยังเติบโตตามจำนวนผู้โดยสาร คาดงวดปี 60 (สิ้นสุด ก.ย.60) เติบโต 7% แต่อนาคต เมื่อเปิดใช้อาคารผู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าภาษีสนามบิน (PSC) ไม่ค่อยสร้างกำไรได้มากนัก

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผนยุทธศาสตร์ของ AOT ต้องมีรายได้จาก Non-Aero และ AERO ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำ และสำรองอีก 2 เดือนเพื่อกรณีฉุกเฉิน

ที่ผ่านมาบริษัทได้รายได้จาก Non-Aero เป็นรายได้ประจำและมั่นคง สามรถครอบคลุมค่าใช้จ่ายรวมได้ที่มีกว่า 3 หมื่นล้านบาท (รวมเงินลงทุน) ซึ่งปีที่ผ่านมาทำได้ตามเป้าหมาย และงวดปี 61 คาดรายได้ Non-Aero จะทยอยเพิ่มขึ้น คาดว่าในงวดปี 64 จะทำได้ตามเป้าหมายหรืออาจจะเร็วขึ้น เพื่อชดเชยกำไรของธุรกิจ Aero ที่บางลง

"เชื่อว่า Big Change จะเกิดในปี 64 ก็คือสุวรรณภูมิ จากนี้ไปเริ่มลงทุนปี61 หลังเคลียร์กับกรมธนารักษ์การใช้ที่ดินราชพัสุด ตรงนี้สัดส่วนที่ 50-50 คงค่อยๆ เป็นไป ...เชื่อว่าปี 60 เป็นปี Relax กฎเกณฑ์ แล้วปี 61 จะเป็นเริ่มเดินหน้าการพัฒนาพื้นที่วางเปล่า" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

*เพิ่มรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์-ที่ดินเปล่า

บริษัทเตรียมเปิดประมูลสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในไตรมาส 4/60 และรู้ผลต้นปี 61 เพื่อให้มีเวลาเตรียมการ 2 ปีทันกำหนดแล้วเสร็จของอาคารแซทเทิลไลท์เดือน พ.ย.62 และทดสอบระบบอีก 6-7 เดือน ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่กลุ่มคิงเพาเวอร์หมดอายุสัญญาสัมปทานในพื้นที่ปัจจุบัน

ดังนั้น การประมูลครั้งนี้จะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งพี้ที่เดิมและพื้นที่ใหม่รวมกันไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นตร.ม.โดยจะให้มีผู้บริหารจัดการพื้นที่เพียงรายเดียว และจะกำหนดเรื่องส่วนพื้นที่ Pick up Counter ด้วย โดยขณะนี้ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุนเท่าใดและจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนเอกชนแบบใดคาดว่าจะสรุปได้ในเดือน ก.ค.-ส.ค.60

อนึ่ง พื้นที่เดิมที่กลุ่มคิงเพาเวอร์รับสัมปทานอยู่ที่ราว 2.5 แสนตร.ม.จะหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.ย.63 และพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ในอาคารแซทเทิลไลท์มีอย่างน้อย 1 หมื่นตร.ม.จากพื้นที่ทั้งหมด 2.1-2.2 หมื่นตร.ม.

ขณะเดียวกันท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ระหว่างการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 11 ก.ค.นี้ และจะประกาศรู้ผลประมูลในวันที่ 20 ก.ค.โดยมีผู้เข้ามาซื้อซองเอกสารไป 5 ราย

ในงวดปี 60 AOT มีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นมากว่า 1.5 พันล้านบาท มาจากท่าอากาศยานดอนเมือง 1 พันล้านบาท จากปีก่อน 357.97 ล้านบาท ภายใต้พื้นที่ 33,233 ตร.ม.อัตราการเช่าพื้นที่ 85% และ จากท่าอากาศยานภูเก็ตที่มีพื้นที่ทั้งอาคารในประเทศและระหว่างประเทศรวมกัน 10,289 ตร.ม.คาดรายได้ประกันขั้นต่ำ 500 ล้านบาท จากเดิมไม่มีรายได้ส่วนนี้ ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับส่วนแบ่งรายได้จากกลุ่มคิงเพาเวอร์อัตรา 19% ต่อปี จากอัตราขั้นต่ำที่ 15%

ส่วนการเจรจาอัตราใหม่ของผลตอบแทนการใช้พื้นที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ เบื้องต้นจะใช้วิธีเก็บผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) รวมกับอัตราการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ (Revenue sharing) ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ 5% คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ย.นี้ แต่คณะกรรมการบริษัทให้หลักการว่าหากพื้นที่จุดใดไม่คุ้มค่ากับการจ่ายในอัตราใหม่ก็ให้คืนพื้นที่นั้นไป ทั้งนี้ ข้อตกลงการใช้พื้นที่ราชพัสดุระหว่างกรมธนารักษ์กับ AOT เหลืออีก 15 ปี หรือหมดอายุในปี 2575

"Return on Asset (ROA) เป็นคนละเรื่องกับ Revenue Sharing ถือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นข้อตกลงการใช้ที่ราชพัสดุเดิม โดยยังไม่รู้ว่าจะคิดย้อนหลังไปปี 45 กับสนามบินสุวรรณภูมิในอดีต แบบ ROA ด้วยหรือไม่ แต่มอง ROA เป็น new product แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าพื้นที่ไหนเป็น Non Aero ที่รู้ๆ คือตกลงใช้ ROA on top ของ Revenue sharing แทนการปรับขึ้น โดยขั้นต่ำจ่าย 5% คาดว่าอีก 1-2 เดือนได้ข้อสรุป"

และหากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บ กลุ่มคิงเพาเวอร์ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานก็จะต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงหมดอายุสัญญา เช่นเดียวกับการประมูลพื้นที่ใหม่ที่จะใช้หลักการเดียวกันคือผู้ประกอบการรับภาระส่วนเพิ่มไป

นายนิตินัย กล่าวว่า ด้านการเดินหน้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือ แปลง 37 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพื้นที่ราว 600-700 ไร่ที่จะทำเป็นโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ก็ต้องรอผลการหารือกับกรมธนารักษ์ก่อนเช่นกัน หากศึกษาโครงการแล้วพบว่าไม่คุ้มค่าก็จะยกเลิกและคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ไป

อย่างไรก็ดี AOT ยังมีที่ดินเปล่า 723 ไร่ที่ซื้อมาเมื่อปี 45 ติดกับท่าอาศยานสุวรรณภูมิที่เดิมเตรียมไว้ชดเชยให้ขาวบ้านหนองงูเห่า แต่ชาวบ้านขอชดเชยเป็นตัวเงินแทน โดยขณะนี้มีการพัฒนาที่ดินดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่ยังต้องลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มเติม และที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายนำเสนอโครงการมายังบริษัท ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนการเจรจาแปลง 37 กับกรมธนารักษ์ หากไม่คุ้มค่าก็จะหันมาที่ดินส่วนนี้แทน

*รายได้ Aero โตตามจำนวนผู้โดยสารเพิ่มแข็งแกร่ง

นายนิตินัย กล่าวถึงรายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) คาดว่า แนวโน้มผลประกอบการงวดครึ่งหลังปี 60 (เม.ย.-ก.ย.60) น่าจะดีกว่างวดครึ่งปีแรก เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารงวดช่วง 9 เดือนแรก (ต.ค.59-มิ.ย.60) เติบโต 7.0-7.3% แม้ช่วงเดือน ต.ค.และพ.ย.59 จะโตลดลงเหลือ 6% และ 3% จากผลการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ขณะที่งวดปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 7% ซึ่งรายได้จะเติบโตตามจำนวนผู้โดยสาร

งวดครึ่งปีแรก AOT มีรายได้รวม 2.8 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากการขายและให้บริการ 2.7 หมื่นล้านบาท รายได้จากธุรกิจการบิน 1.5 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 57% และรายได้ Non-Aero 1.2 หมื่นล้าบาท คิดเป็นสัดส่วน 43% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท ขณะที่งวดปี 59 (ต.ค.58-ก.ย.59) มีรายได้รวม 5.2 หมื่นล่านบาท และกำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท

"ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู่โดยสาร 45 ล้านคน/ปี แต่ขณะนี้ใกล้ 60 ล้านคน/ปี เท่ากับ ทอท.ได้มีกำไรจากที่มีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่า 45 ล้านคน/ปี เราก็เหมือนหมูออมสิน ถ้าเราขยายสนามบินรองรับคน โดยตรรกะก็จะเท่าเดิม เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เก็บค่า PSC เท่าเดิม ดังนั้นเราก็หวังว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมาจาก Non-Aero โดยทีกำไรไม่หด "กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

แนวโน้มรายได้ในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.49% โดยเฉพาะผู้โดยสารของสายการบินโลว์คอร์ส ที่มีผู้โดยสารจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการลงทุนขยายท่าอากาศยาน 2.2 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 184 ล้านคน/ปี จากปัจจุบัน 101 ล้านคน/ปี

นายนิตินัย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่ง AOT ให้เร่งการลงทุนเร็วขึ้นจากแผนเดิมที่จะนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการพิจารณษภายในสิ้นปีนี้ ก็จะเร็วขึ้น 1-2 เดือน โดยเฉพาะแผนงานของ 4 ท่าอากาศยาน คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่และหาดใหญ่ โดยจะนำงานที่ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) มาดำเนินการก่อน

"รัฐบาลได้เร่งรัดงานพัฒนาท่าอากาศยานของ AOT เร็วขึ้น โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารแออัด และต้องการให้เกิดการลงทุน โดยคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการบริษัทในเดือน ก.ค.ตอนนี้ ทอท.ต้องการลงทุนมาก เพราะมี cash in hand อยู่มากกว่า 6 หมื่นล้านบาท"นายนิตินัยกล่าว

นอกจากนี้ AOT จะหารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่จะเข้าไปช่วยบูรณาการสนามบินต่างจังหวัด 29 แห่ง โดยขณะนี้รอ ทย.ทำแผนก่อนหารือว่าจะเปิดให้ AOT เข้าบริหาร หรือเอกชนเข้ามาบริหารสนามบินใด อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ