โบรกฯเชียร์"ซื้อ"IVL กำไรปกติปีนี้โตจากมาร์จิ้นดีขึ้นหลังรุกผลิตภัณฑ์ HVA,ราคาหุ้นยังต่ำเทียบกับศักยภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 26, 2017 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ เห็นพ้อง"ซื้อ"หุ้นบมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) มองกำไรปกติปีนี้จะเติบโตตามจากมาร์จิ้นที่ดีขึ้น ตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ PTA และ PSF ที่เพิ่มขึ้นจากความตึงตัวของภาวะตลาด รวมถึงการรุกผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า (High Value Added:HVA) หลังพยายามที่จะเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ ด้วยการทำผลิตภัณฑ์เส้นใยสำหรับอุปกรณ์ถุงลมนิรภัย และเส้นใยสำหรับยางรถยนต์ ช่วยหนุนให้ Core EITDA ต่อตันปรับตัวขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก PET ขณะนี้ก็อยู่ในภาวะทรงตัว แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ยังเชื่อว่า IVL จะยังมีแผนเข้าซื้อกิจการในปีนี้ต่อเนื่อง หลังจากที่ต้นปี 60 ได้ซื้อกิจการไปแล้ว 1 แห่งในธุรกิจเส้นใยสำหรับยางรถยนต์

ส่วนกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/60 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หนุนโดยปัจจัยฤดูกาลที่การใช้ PET เพิ่มในฤดูร้อน รวมถึงการปรับขึ้นของส่วนต่างราคา PTA ในเอเชีย ขณะที่ในไตรมาส 3/60 ยังได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดดำเนินงานของโรงงานส่วนขยาย Rotterdam PTA ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ยังส่งผลบวกต่อมาร์จิ้นเฉลี่ยด้วย

พร้อมมองมูลค่าพื้นฐานของหุ้น IVL ยังน่าสนใจเมื่อเทียบกับความสามารถการเติบโต ประกอบกับราคาหุ้นยังมีอัพไซต์ ทำให้น่าสนใจในการลงทุน

ราคาหุ้น IVL ปิดเที่ยงวันนี้อยู่ที่ 39.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.64% ขณะที่ SET บวก 0.35%

          ธนชาต                        ซื้อ                           46
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)     ซื้อเก็งกำไร                    45
          ไอร่า                         ซื้อ                           45
          ไทยพาณิชย์                     ซื้อ                           42
          กรุงศรี                        ซื้อ                           42
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)             ซื้อ                           41
          ทิสโก้                         ซื้อ                           46
          ทรีนีตี้                         ซื้อ                           47.50

นายชัยพัชร ธนวัฒโน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้แนวโน้มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายในธุรกิจหลัก (Core EBITDA) ต่อตันของ IVL จะดีขึ้น เนื่องจากมีการผลิตภัณฑ์เส้นใยที่สามารถให้มูลค่าสูง หลังพยายามที่จะเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ด้วยการทำผลิตภัณฑ์เส้นใยสำหรับอุปกรณ์ถุงลมนิรภัยและเส้นใยสำหรับยางรถยนต์ ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนี้จะช่วยทำกำไรให้กับ IVL ได้ดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก PET ขณะนี้ก็อยู่ในภาวะทรงตัว แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนแผนการซื้อกิจการของ IVL ในปีนี้ ก็เชื่อว่าจะยังมีอีก หลังจากที่ต้นปี 60 ได้ซื้อกิจการไปแล้ว 1 แห่งซึ่งเป็นผู้ผลิตเส้นใยสำหรับยางรถยนต์

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า IVL จะมีกำไรปกติปีนี้ที่ระดับ 11,000 ล้านบาท เติบโต 16% จากปี 59 ที่มีกำไรปกติ 9,600 ล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วมีกำไรสุทธิสูงถึง 16,197 ล้านบาท เนื่องจากมีการบันทึกการซื้อกิจการในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value:BV)

ด้านเป้าหมายสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ IVL ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 1 เท่า ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินการได้ โดยสิ้นไตรมาส 1/60 มี D/E อยู่ที่ 1.8 เท่า ลดลงจากระดับ 1.9 เท่าในไตรมาส 4/59 นอกจากนี้ IVL จะมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ที่ครบกำหนดแปลงสภาพในปีนี้ 1 ชุด ซึ่ง IVL เตรียมจะนำเงินที่ได้มาชำระคืนหนี้ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และยังทำให้สามารถขยายฐานการกู้ได้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบันราคาหุ้น IVL ก็ถือว่ายังน่าสนใจ เพราะนอกจากจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ที่ 42 บาท/หุ้นแล้ว ยังเทรดแค่ 1.9 เท่าของ BV ซึ่งในอดีตหุ้น IVL จะเทรดเกิน 2 เท่าของ BV โดยสิ้นไตรมาส 1/60 มูลค่าทางบัญชี ของ IVL อยู่ที่ 18.90 บาท/หุ้น จากระดับ 18.50 บาท/หุ้น ณ สิ้นปี 59

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ผลประกอบการของ IVL ยังมีแรงส่งเชิงบวกจากปัจจัยฤดูกาลในไตรมาส 2/60 และกำลังการผลิตที่เพิ่มในครึ่งหลังปีนี้ โดยได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 60-61 ขึ้น 25-26% มาอยู่ที่ โดยคาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (core net profit) ปี 60 ที่ระดับ 12,410 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 14,667 ล้านบาทในปี 61 สะท้อนการปรับสมมติฐานปริมาณผลิตเพิ่ม 3.4-6.5% เป็น 9.2 และ 9.9 ล้านตัน ตามลำดับ

พร้อมทั้งปรับมาร์จิ้น (Core EITDA ต่อตัน) ขึ้น 1.0-4.3% ตามการปรับปรุงส่วนต่างราคา PTA (Purified Terephthalic Acid) และ PSF (Polyester Staple Fiber:เส้นใยสังเคราะห์แบบสั้น) จากความตึงตัวของภาวะตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วง 60-64 เพิ่มเป็น 73% และ 84% จาก 71% และ 78% สำหรับ PSF และ PTA ตามลำดับ บนสมมติฐาน IVL-W1 ถูกใช้สิทธิทั้งหมด 481 ล้านหน่วย ที่ราคาใช้สิทธิ 36 บาท/หุ้น ซึ่งกำหนดใช้สิทธิครั้งสุดท้ายวันที่ 24 ส.ค.60

ขณะที่คาดการณ์ผลประกอบการปกติในไตรมาส 2/60 ของ IVL จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน หนุนโดยปัจจัยฤดูกาลที่การใช้ PET เพิ่มในฤดูร้อน รวมถึงการปรับขึ้นของส่วนต่างราคา PTA ในเอเชีย ที่นับตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/60 จนถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นแล้ว 8.1% ประเมิน Core EBITDA ต่อตันเพิ่ม 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็น 104 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปริมาณขายคาดปรับขึ้น 3.5% จากไตรมาสก่อน เป็น 2.3 ล้านตัน

ทั้งนี้ คาดกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3,600 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรายการที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ ขาดทุนสต็อก หลังราคาน้ำมันอ่อนตัวลง แต่เมื่อมองข้ามไปในไตรมาส 3/60 ที่จะมีการเปิดดำเนินงานของโรงงานส่วนขยาย Rotterdam PTA อีก 3.2 แสนตัน/ปี นอกจากจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ยังส่งผลบวกต่อมาร์จิ้นเฉลี่ย เนื่องจากส่วนต่างราคา PTA ในยุโรปสูงกว่าค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ชอง IVL ส่วนในปี 61 จะรับรู้ผลบวกจากโครงการดังกล่าว รวมทั้งโครงการเอทิลีนแครกเกอร์ในสหรัฐกำลังการผลิต 4.4 แสนตัน/ปี ที่มีแผนเปิดผลิตปลายปี 60 อย่างเต็มปีด้วย

ด้านบทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ระบุว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อ IVL จากความสำเร็จของกลยุทธ์การสร้างธุรกิจต้นน้ำสู่ปลายน้ำ แทนการขยายขนาดธุรกิจเฉพาะส่วน และภาพการเติบโตผลกำไรสดใส จากการขยายการผลิตของกลุ่มสารตั้งต้น อย่างผลิตภัณฑ์ PTA และยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ HVA รวมถึงมูลค่าพื้นฐานน่าสนใจเมื่อเทียบกับความสามารถการเติบโต

ทั้งนี้ มองว่าการสร้างธุรกิจที่เชื่อมโยงกันจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ IVL สามารถเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่ม PTA ที่มีส่วนต่างราคาสูงเพื่อใช้เองในธุรกิจ และการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่ม HVA เพื่อขายออกสู่ตลาด ซึ่งกลยุทธ์นี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากแผนการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่เน้นใช้การขยายกำลังการผลิตในกลุ่ม PET/Polyester เป็นปัจจัยการเติบโตหลัก

การปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ยังช่วยให้ IVL มีการประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตสารตั้งต้นเองเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย และค่าใช้จ่ายการขายและบริหารน่าจะลดลงเหลือต่ำกว่า 55% ในช่วงปี 60-62 จากเดิมกว่า 70% ในช่วงปี 56-58 โดยผลจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีขึ้นและการประหยัดต่อขนาด ทำให้คาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็น 14% โดยเฉลี่ยในปี 60-62 ซึ่งไม่รวมผลจากการเพิ่มทุนและการใช้สิทธิแปลงสภาพวอร์แรนต์ จากเดิมอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10% ในปี 59 และก่อนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ