BGRIM เผยกลุ่มนักลงทุนสถาบันฯ สนใจจองหุ้น IPO เพียบหลัง 3 รายใหญ่ตกลงเข้าซื้อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 26, 2017 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปรียานาถ สุรทรวาทะ ปรานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ทั้งกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งทางบริษัทได้ลงนามสัญญาลงทุนในหุ้นกับนักลงทุนสถาบันที่เป็นนักลงทุนหลักเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) แล้ว 3 ราย โดยได้ตกลงจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายเป็นจำนวนรวม 201 ล้านหุ้นที่ราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายในการเสนอขายหุ้นครั้งนี้

สำหรับสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับสากลมีความประสงค์ที่จะจองซื้อหุ้น IPO ได้แก่ Asian Development Bank ที่ประสงค์จะจองซื้อหุ้น IPO ในมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนสถาบันในประเทศ ได้แก่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต และบมจ.ไทยประกันชีวิต มีความต้องการจองซื้อหุ้น IPO รวมกันมูลค่า 1.3 พันล้านบาท ซึ่งสถาบันที่เซ็นสัญญากับบริษัทไว้แล้วนั้นจะคิดเป็นสัดส่วนที่จัดสรร 30% ของหุ้นที่จัดสรรให้นักลงทุนสถาบัน ส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“บริษัทมั่นใจจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน หลังจากนักลงทุนสถาบันแสดงความสนใจเข้ามาจำนวนมาก เพราะเราเป็นตัวจริงในธุรกิจนี้ นี่คือข้อแตกต่างจากรายอื่น การทำ IPO ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"นางปรียนาถ กล่าวในระหว่างการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์)

ขณะที่ IPO ของ BGRIM ได้กำหนดช่วงราคาขายไว้ที่ 15-16.50 บาทต่อหุ้น โดยจะสรุปราคาสุดท้าย 6 ก.ค.นี้ พร้อมเปิดให้จองหุ้น 3-13 ก.ค. ก่อนเข้าเทรดใน SET 19 ก.ค.นี้ โดยเงินระดมทุน 9,800-10,800 ล้านบาท นำไปใช้ชำระหนี้ นอกจากนี้บริษัทเตรียมที่จะนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในประเทศในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-6 ก.ค.จะเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศใน 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และกรุงลอนดอน ของอังกฤษ

ส่วนแผนการลงทุนในระยะ 5 ปี (ปี 60-64) บริษัทเตรียมขยายธุรกิจสู่อาเซียน โดยตั้งเป้ามีกำลังผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 64 โดยจะยังคงเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งจะเน้นการเพิ่มพื้นที่ของโครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม และตั้งเป้ามีการจำนวนกำลังการผลิตที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 5 ปีเพิ่มเป็น 2,400 เมกาวัตต์ จากปัจจุบัน 1,626 เมกาวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ