กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกคำสั่งตามมาตรา 39 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หยุดเดินเครื่องบ่อบำบัดน้ำเสียโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกที่บางนา-ตราด เป็นเวลา 30 วัน ภายหลังเกิดเหตุนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพนักงานบริษัทตกบ่อบำบัดน้ำเสียเสียชีวิต 5 รายเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีเหตุการณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่โรงงานพลัดตกบ่อระบบบำบัดน้ำเสียเสียชีวิต 5 ราย ภายในโรงงานของ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบกิจการฆ่าและชำแหละสัตว์ปีก กรมโรงงานฯ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบโรงงานอย่างเร่งด่วน พบว่าเหตุการณ์เกิดจากนักศึกษาที่มาดูงานพลัดตกลงไปในบ่ออับอากาศแล้วมีการลงไปช่วยเหลือโดยไม่มีความรู้ จึงทำให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิต
บริเวณที่เกิดเหตุเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียที่แยกไขมันออกแล้ว (Draft) ก่อนส่งเข้าสู่ระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง (Activated sludge) มีขนาด 3x4 เมตร ลึก 2.5 เมตร เป็นบ่ออับอากาศ โดยโรงงานนี้มีปริมาณน้ำเสียจากกระบวนการผลิต 5,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน
ดังนั้น กรมโรงงานฯ จึงได้สั่งการตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขระบบบ่อบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎสำคัญด้านความปลอดภัยสำหรับพื้นที่อับอากาศ ข้อแรกคือการห้ามผู้ไม่มีหน้าที่เข้าไปในพื้นที่อย่างเด็ดขาด ส่วนผู้มีหน้าที่เข้าไปก็ต้องมีความรู้ รวมทั้งต้องมีป้ายแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเตือนให้ชัดเจน และต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน
นอกจากนี้บริเวณรอบบ่อควรเป็นที่โล่งเพื่อสะดวกในการช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากนี้ทางสมาคมฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกว่าร้อยคน ขอเสนอตัวช่วยเหลือกรมฯ ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของบ่อบำบัดในโรงงานต่างๆ ด้วย เพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก