นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าสินเชื่อรวมของธนาคารกสิกรไทยในปี 61 มีโอกาสเติบโตได้ 6-7% จากปีนี้ที่ยังมั่นใจว่าสินเชื่อรวมของธนาคารจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4-6% ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของภาครัฐที่จะเริ่มออกมาอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นปัจจัยหนุนหลัก ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเริ่มลงทุนตาม ซึ่งมีผลต่อการขอสินเชื่อของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
"การลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเป็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3-3.4% ส่วนในแง่ของสินเชื่อนั้นคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังเช่นเดียวกัน หลังครึ่งปีแรกสินเชื่อรวมของธนาคารยังชะลอตัว โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อรวมของธนาคารเติบโตเพียง 2.3%"นายบัณฑูร กล่าว
นายบัณฑูร กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ยังคาดว่าอยู่ในระดับที่ธนาคารควบคุมได้ในกรอบ 3.3-3.4% โดยแนวโน้ม NPL ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าที่ผ่านมา NPL ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจชะลอและฟื้นตัวช้า โดยในไตรมาส 1/60 NPL ธนาคารอยู่ที่ 3.3% ส่วนกรณีปัญหาหนี้ของบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ธนาคารยังมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายและผลการดำเนินงานของธนาคารที่ตั้งไว้แต่อย่างใด
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมองว่าคงไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับปี 40 แต่ถือว่ามีความท้าทายในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้า ภาระหนี้สินที่สูง และการลงทุนที่มากเกินไป ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสมัยใหม่ที่แตกต่างจากอดีต
โดยความเสี่ยงในยุคปัจจุบัน คือ ความเสี่ยงจากความรู้ไม่ทันโลก ไม่ทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งภาคธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันอาจต้องสะดุดและล้มหายตายจากไป โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าใครจะอยู่รอด เพราะเอกชนทุกรายต่างพยายามปรับตัวและพัฒนาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่แล้วเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ในยุคของการเปลี่ยนแปลง
อีกทั้งปัจจุบันภาครัฐยังพยายามผลักดันและเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐที่ต้องมีประสิทธิภาพ เช่น ต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุนและความคุ้มค่าของโครงการลงทุน โดยในด้านโครงการคมนาคมขนส่งต้องพิจารณาว่าเส้นทางนั้น ๆ ที่จะลงทุนมีผู้โดยสารเพียงพอที่จะคืนทุนได้หรือไม่ เช่นเดียวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตกรที่ต้องทำให้เกิดประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยไม่ต้องใช้โครงการประกันราคาสินค้าเกษตรเข้ามาช่วยในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
"โลกในยุคปัจุบันเป็นยุคสีเทา ซึ่งมีโอกาสที่ภาคธุรกิจจะได้ทั้งผลบวกและลบ รายใดปรับตัวได้ มีความคิดต่างก็อยู่รอด แต่ถ้าใครรู้ไม่ทันโลก มีความรู้น้อย สู้ไม่ได้ ก็ต้องล้มไป ส่วนภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นอัตราที่เหมาะสม เพราะถ้าหากสินเชื่อโตน้อยเกินไปก็จะไม่ช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันหากสินเชื่อขยายตัวเร็วเกินไปภาวะเศรษฐกิจก็อาจรองรับไม่ทันหรือตกขอบได้ ดังนั้นจึงต้องมีความสมดุลทั้งสองด้าน"นายบัณฑูร กล่าว