โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) จากปัจจัยหนุนคำสั่งซื้อใหม่ของลูกค้าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในปี 60 ที่เริ่มเห็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ทำให้ค่ายรถยนต์ที่เป็นลูกค้าของ STANLY มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นหนุนยอดขายในปี 60/61 (เม.ย.60-มี.ค.61) ยังเติบโต
ขณะเดียวกัน STANLY ยังมีการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีค่าใช้จ่ายทางการเงินที่สูง ทำให้กำไรสุทธิของ STANLY ในปี 60/61 ยังเติบโตได้อย่างดี แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากคำสั่งซื้อการผลิตชิ้นส่วนโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่ของลูกค้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น แต่ยังมองว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 61/62 เพราะ STANLY สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ และเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)
พักเที่ยงราคาหุ้น STANLY อยู่ที่ 220 บาท เพิ่มขึ้น 7 บาท (+3.29%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.07%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บัวหลวง ซื้อ 241.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 230.00 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ Trading Buy 235.00 ธนชาต ซื้อ 280.00
นายสุรชัย ประมวลเจริญกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ STANLY ในปี 60/61 มีแนวโน้มเติบโตในทิศทางทีดี โดยประเมินยอดขายเติบโต 4% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิเติบโตได้ราว 10% จากปีก่อน หรือมาอยู่ 1.4 พันล้านบาท
ปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มของยอดขายรถยนต์ในประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งตามปรมาณการของค่ายรถยนต์ได้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้จะเติบโต 5-10% อีกทั้งในปี 60 จากแนวโน้มที่ผู้ใช้รถยนต์ที่ได้พ้นจากโครงการรถยนต์คันแรกไปแล้วจะเริ่มทยอยเปลี่ยนรถยนต์ และค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ได้ออกรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตากำลังซื้อในประเทศ ที่ขณะนี้ยังไม่เห็นทิศทางที่ดี แต่คาดว่าการลงทุนของภาครัฐที่จะออกมานั้น ก็เป็นโอกาสที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้กลับมาดีขึ้นได้
ทั้งนี้ มองว่า STANLY มีความน่าสนใจ จากการที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นสูงถึง 4.8 พันล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่เหมาะสมที่ 5 บาท/หุ้น
ด้านนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ STANLY ยังมีการเติบโตได้จากการที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้าส่งคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นมาอยู่ที่ 90% จากเดิมที่ 85% และหนุนให้ยอดขายในปี 60/61 จะเติบโต 7% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้านอัตรากำไรขั้นต้นในปี 60/61 มีแนวโน้มที่ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 17% จากระดับ 17.6% ในปีก่อน เพราะ STANLY ต้องลงทุนปรับปรุงสายการผลิตใหม่ เพื่อรองรับคำสั่งซื้อใหม่ ๆ แต่คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นไนปี 61/62 จาก Economy of Scale เพราะการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น และคาดว่ากำไรสุทธิในปี 60/61 จะเติบโต 8% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 1.48 พันล้านบาท
นักวิเคราะห์บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า STANLY จะได้รับปัจจัยบวกจากตลาดรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังแนวโน้มของกำลังซื้อในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้าของ STANLY ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ๆ ออกมา ช่วยหนุนยอดขายในปี 60/61 เติบโตได้ 5.7% จากปีก่อน หรือมาอยู่ 1.16 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกมาจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพราะมีปริมาณของเสียจากการผลิตชิ้นส่วนของโมเดลรถรุ่นใหม่ ทำให้กดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้นในปี 60/61 ให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไม่โดดเด่น โดยคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปี 60/61 จะอยู่ที่ 18.6% จากราว 17.6% ในปีก่อน แต่การที่ STANLY สามารถบริหารจัดการต้นทุนผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีภาระจ่ายทางการเงินสูง ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 60/61 มีทิศทางการเติบโตที่ดีมาอยู่ที่ 1.47 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 13% จากปีที่แล้ว
บทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ระบุว่าแม้จะมีความกังวลจากยอดการส่งออกรถยนต์ 5 เดือนแรกปีนี้ที่ลดลง 11% จากเดิมที่คาดเติบโต 5% แต่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศกลับเติบโตดีกว่าคาดมาก โดยเติบโตถึง 15% และแนวโน้มจะยังเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จากช่วงการส่งมอบรถที่จองจากงานมอเตอร์โชว์ และการเร่งซื้อรถในช่วงดอกเบี้ยที่ยังต่ำ ดังนั้น ทำให้ต้องปรับประมาณการการเติบโตยอดขาย STANLY ในปี 60/61 ขึ้นเป็น 10% จากเดิม 8%
นอกจากนี้ ยังคาดว่าส่วนต่างกำไรในปี 60/61 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 19% จากระดับ 17.6% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสัดส่วนการขายโคมไฟประเภท LED ที่มากขึ้นทั้งในรถยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงยังมีการนำไฟ Daytime Running Light (DRL) มาใช้ร่วมกับ LED ในรถจักรยานยนต์รุ่นราคาไม่แพง ซึ่งเร็วกว่าอัตราที่คาดไว้เดิมมาก ทำให้เชื่อว่าจะเกิดจากความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค และจากศูนย์ขายรถยนต์ที่พยายามขายรถรุ่นสูงเพิ่มส่วนต่างกำไรที่ดีกว่า
ขณะเดียวกัน STANLY ยังมีแผนจะเพิ่มอาคารการผลิตขึ้นอีก 2 อาคารในปีนี้ จากที่มีอยู่ 7 อาคารในปัจจุบัน โดยคาดการลงทุนราว 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับยอดสั่งซื้อจากผู้ผลิตรายใหม่ที่คาดจะเข้ามา และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของยอดขายโคมไฟยานยนต์ประเภท LED ซึ่งใช้พื้นที่การผลิตมากจากขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น โดยการขยายโรงงานนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่า STANLY น่าจะมองเห็นแนวทางการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น โดยจะเพิ่มความสามารถการแข็งขันผ่านการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการผลิตและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้