นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ( AOT) เปิดเผยว่า บริษัทได้ข้อสรุปในการจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์แล้วในส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมธนารักษ์จัดเก็บจากส่วนแบ่งรายได้ 5% ซึ่งเป็นอัตราเดิม และจะคิดส่วนที่เพิ่มจากผลตอบแทนสินทรัพย์ (ROA) ในอัตรา 3% ของมูลค่าที่ดิน อาทิ ร้านค้าดิวตี้ฟรี โรงแรม เป็นต้น โดย AOT จะผลักภาระส่วนต่างกับผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ส่วนที่ดินเปล่าที่รอการพัฒนาหรือแปลง 37 ที่มีที่ดินราว 600-700 ไร่นั้น นายนิตินัย กล่าวว่า ได้ข้อชัดเจนแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวหากยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างจะเก็บ ROA ในอัตรา 2% แต่เมื่อก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะจัดเก็บในอัตรา 3%
ขณะที่ในส่วนเขตปลอดภาษีในสนามบิน (Free Trade Zone) ที่มีพื้นที่ 420 ไร่นั้น จะจัดเก็บในอัตรา 1% ของกำไรสุทธิของงานบริหารพื้นที่นี้เพราะเป็นพื้นที่ช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยที่ผ่านมา AOT จ้างบริษัทอื่นมาบริการทำกำไรสุทธิได้ 10 ล้าบาท เท่ากับจ่ายผลตอบแทน 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม AOT ได้นำกลับมาบริหารเองเมื่อไม่นาน
ทั้งนี้ การจัดเก็บแบบใหม่จะเริ่มมีผลใช้ตั้งแต่งวดปี 61 ( ต.ค.60-ก.ย.61) โดยสัญญาเช่าที่ราชพัสดุจะหมดในปี 64
สำหรับค่าเช่าที่จะเก็บย้อนหลังในช่วงปี 55-60 นั้น กรมธนารักษ์จะไม่คิดค่าตอบแทนแบบ ROA แต่ให้คิดส่วนต่างจากอัตราเงินเฟ้อของแต่ละปีของจำนวนเงินที่ AOT ได้จ่ายค่าเช่าที่แบบส่วนแบ่งรายได้ 5% ไปแล้ว โดยคาดว่าในส่วนนี้มีจำนวนไม่มาก
นายนิตินัย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า AOT จะเสนอตัวเลขผลตอบแทนการเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ หลังจากที่เห็นชอบในหลักการกันแล้ว ขณะเดียวกัน AOT อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแปลง 37 ขนาดพื้นที่ 990 ไร่ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีระบบสาธาณูปโภคพร้อม แต่มีระยะเวลาใช้ที่ดินเพียง 15 ปี หรือหมดอายุสัญญาในปี 75 รวมทั้งที่ดินเปล่าที่เป็นของ AOT อยู่ใกล้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 723 ไร่ จะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น โครงการ Airport City ประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า (Shopping Mall) การจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการลานจอดและอุปกรณ์บริการภาคพื้น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Zoning จากการขยายขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูมิภาค ตลอดจนการจัดหรือเข้าร่วมการสัมมนาสายการบิน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการบินแก่ ทอท.โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางการบินใหม่ หรือ เพิ่มความถี่ของจำนวนเที่ยวบินที่มีอยู่เดิม เป็นต้น
ดังนั้น คาดว่าในปีหน้า AOT จะสามารถเดินหน้าพัฒนาที่ดินเปล่า ทำให้มีแผนธุรกิจด้านพาณิชย์ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น จึงมองว่าในช่วงปี 63 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Aero) ได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% จาก 47% ในปัจจุบัน
"โครงการใหญ่ระยะเวลาสั้น และมี ROA ก็ต้องศึกษาว่าจะทำโครงการอะไรได้บ้าง แต่ถ้าเป็นพื้นที่ 723 ไร่ที่เป็นของ ทอท.เอง สาธารณูปโภคไม่พร้อม ทั้งสองที่ก็มีข้อดีข้อเสีย" นายนิตินัย กล่าว