หุ้น TRUE ราคาขยับขึ้น 1.61% มาอยู่ที่ 6.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท มูลค่าซื้อขาย 404.63 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.16 น. โดยเปิดตลาดที่ 6.20 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 6.35 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 6.20 บาท
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ด้วย 4 เหตุผล คือ 1) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ TRUE ปรับตัวดีขึ้น คาดปีนี้ทำได้ 30,000 ล้านบาท แซงบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ 29,000 ล้านบาท 2) คาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) จะเริ่มลดลง เมื่อส่วนแบ่งการตลาดทิ้งห่างอันดับ 3 แตะ 30% ในปีหน้า 3) มี Upside risk จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ที่อาจเห็นในปีนี้ และ 4) ราคาหุ้นปัจจุบันต่ำกว่า China Mobile เฉลี่ยที่ 6.6 บาทต่อหุ้น พร้อมประเมินมูลค่าพื้นฐาน TRUE ที่ 7.80 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 ขาดทุน 2,007 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาส 1/60 ที่ 2,725 ล้านบาท เป็นสัญญาณที่ดีขึ้นเป็นลำดับ หนุนโดยรายได้ที่เติบโต 6% จากไตรมาสก่อน และ 12% จากงวดปีก่อน ขณะที่ตัวบั่นทอนผลการดำเนินงานคือ SG&A ที่ยังอยู่ในระดับสูง 8,300 ล้านบาท (+1.6% QoQ) เพราะ TRUE ยังจำเป็นต้องเร่งส่วนแบ่งการตลาดในส่วน prepaid และค่าเสื่อมราคาในโครงข่าย (+3.0% QoQ) หากกลับมาพิจารณา EBITDA ในไตรมาส 2/60 คาดเพิ่มขึ้น 7.2% จากไตรมาสก่อน และ 24% จากงวดปีก่อน เป็น 7,850 ล้านบาท
TRUE มีสินทรัพย์ระยะยาวกว่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงข่าย 4G โครงข่าย Fiber optic และ คลื่นความถี่รวม 50MHz ที่มีอายุใช้งานเกิน 10 ปี และเป็นคลื่นสั้นถึง 2 ใบ นอกจากนี้ TRUE ยังมีฐานลูกค้ามือถือ 26 ล้านเลขหมาย ฐานลูกค้า broadband 3 ล้านเลขหมายและฐานลูกค้า pay TV 4 ล้านเลขหมาย แม้ TRUE จะเผชิญช่วงขาดทุนในปี 2560 เพราะอยู่ในช่วงของการลงทุนและการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้เหนือกว่าคู่แข่ง แต่เชื่อว่าขบวนการดังกล่าวใกล้สิ้นสุดแล้ว หากส่วนแบ่งการตลาดฉีกจากเบอร์ 3 อย่างมีนัยยะสำคัญ
ทั้งนี้ คาด TRUE เข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวกำไรขาขึ้นตั้งแต่ ปี 2561 ที่ 319 ล้านบาท และปี 2562 ที่ 3,700 ล้านบาท นอกจากนี้ประเมิน TRUE มีสินทรัพย์ที่สามารถขายเข้ากองทุนได้ขนาดไม่น้อยกว่ากองทุน DIF รอบแรก ซึ่งหากเกิดขึ้นจะเพิ่มสภาพคล่องและกำไรปีนี้ทันที