บมจ.ช.การช่าง (CK) คาดรายได้ในไตรมาส 2/60 ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/60 และยังจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทลูกเข้ามาราว 600 ล้านบาท ส่วนทั้งปีนี้ยังคงเป้ารายได้ที่ระดับ 3-3.5 หมื่นล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้ที่ระดับ 8-10% ขณะที่การออกหุ้นกู้วงเงิน 6 พันล้านบาทครั้งที่ผ่านมาได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงเหลือ 3.6% จากเดิม 4% นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการบริหาร ของ CK กล่าวว่า รายได้ในไตรมาส 2/60 จะมาจากการรับรู้รายได้จากงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รวมทั้งยังได้รับเงินปันผลจากบริษัทลูก 3 แห่งคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือหุ้น 29.73% บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) ถือสัดส่วน 19.40% และบมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ถือหุ้น 28.77% โดยในไตรมาส 2/60 จะรับเงินปันผลจาก 3 บริษัทลูกดังกล่าวรวมประมาณ 600 ล้านบาท และในไตรมาส 3/60 ยังได้รับเงินปันผลระหว่างกาลจากทั้ง 3 บริษัทเข้ามาอีกประมาณ 400 ล้านบาท
ในไตรมาส 2/60 บริษัทได้งานใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 4.8 หมื่นล้านบาท จากงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน- ศูนย์วัฒนธรรมฯ ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และงานจัดหาติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รวมทั้งจัดหารตัวรถไฟฟ้า วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ปริมาณงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นมาที่ 1.28 แสนล้านบาท และจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 3 ปี
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ยังมีโอกาสรับงานใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากจากการที่ภาครัฐเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะแรก จำนวน 5 เส้นทาง 10 สัญญางานโยธา มูลค่างานรวม 9.7 หมื่นล้านบาท ที่ทยอยเปิดประมูลในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. บริษัทคาดว่าจะได้งานราว 20-25% ของมูลค่างาน รวมถึงยังมีงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ และสายสีส้ม ตะวันออก ข่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี โครงการทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง งานเหล่านี้บริษัทจะเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำในสปป.ลาว ของกลุ่มบริษัทนั้นน่าจะได้ข้อสรุปในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แต่หลังจากนั้นยังต้องมีการเจรจาค่าไฟฟ้า และเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาโครงการต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนทางการเงินปรับลดลงเหลือ 3.6% จากเดิมที่ 4% เนื่องจากบริษัทได้ออกหุ้นกู้ วงเงิน 6 พันล้านบาทเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ แบ่งเป็น หุ้นกู้อายุ 4 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 2.97% ต่ำกว่าหุ้นกู้ชุดก่อนที่มีดอกเบี้ยราว 4% และยังออกหุ้นกู้ อายุ 12 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.32% โดยนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปไถ่ถอนหุ้นกู้บางชุดก่อนครบกำหนด ทั้งนี้ทำให้สามารถประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ อย่างไรก็ดีในกลางปี 61 บริษัทยังมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนราว 2 พันล้านบาท
ส่วนการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำฟ้องของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ซึ่ง CK ถือหุ้น 35% ที่เรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง หรือ คดีค่าโง่ทางด่วนนั้น จะไม่กระทบฐานะการเงินของบริษัท เนื่องจากกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนไว้ตั้งแต่ปี 49
นายประเสริฐ กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ในแถบประเทศยุโรป พร้อมกับบล.ซีแอลเอสเอ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกได้ไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันต่างประเทศเริ่มให้น้ำหนักการลงทุน CK เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากเห็นว่า CK มีจำนวนงานในมือสูง และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจของ BEM ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เพิ่มขึ้นมาเป็น 6-7% จากเดิมมีสัดส่วน 2-3% อย่างไรก็ดีคาดหวังจะเห็นสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเพิ่มมาเป็น 10-15%
ขณะเดียวกันบริษัทก็มองจังหวะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน 3 บริษัทลูกทั้ง BEM , CKP , TTW เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากมีทั้ง 3 บริษัทมีผลประกอบการดีและมีแนวโน้มเติบโต