นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์แรกของเดือนใหม่นี้ (3-7 ก.ค.) ว่า แรงขายจากแนวโน้มของการปรับลดวงเงินมาตรการผ่อคลายทางการเงิน (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และที่อื่นๆ เริ่มมีผลต่อตลาดมากขึ้น ในทางกลับกันคาดแรงซื้อคืนของนักลงทุนหลังเปิดไตรมาสใหม่ รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะมีผลในทางบวกต่อตลาด อย่างไรก็ตาม ในมุมทางเทคนิค จุดรับที่สำคัญที่จะบ่งชี้ว่า rebound หรือลงต่อ จะไปอยู่ที่ 1,566 และ 1,558 จุด ตามลำดับ
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น เนื่องจากเป็นสัปดาห์ที่ตลาดอาจประเมินดูว่าจะไปในทางใด หรืออาจเลือกขายทำกำไรหุ้นที่ไม่ขึ้นอีก (หรือซื้อน้อยลง) โดยในการหาจังหวะเข้าซื้อ ยังคงมองว่า SET Index ในระดับนี้ มี upside เหลือไม่มาก การเข้าซื้อนอกจากจะทยอยซื้อ (ตามแนวรับด้านบน) จะต้องเลือก “selective buy" ด้วย เพราะหุ้นจะไม่ได้ขึ้น-ลง ทุกตัวในแต่ละกลุ่ม ตัวแปร บ่งชี้ทิศทางตลาด คือ แรงซื้อ-ขายนักลงทุนสถาบันในประเทศ และ Bond Yield (สูงขึ้น เป็นลบ)
ทั้งนี้ KTBST แนะคงเงินสดในพอร์ตไว้ 30% เน้นหุ้นเสี่ยงต่ำ, หุ้นอิงกับการลงทุนคมนาคมภาครัฐฯ, หุ้นอิงรายได้จากราคาน้ำมัน, หุ้นบวกจากดอกเบี้ยขาขึ้น หรือฟื้นตามเศรษฐกิจ และหุ้นใหม่เข้าคำนวณ SET50-SET100-sSET
"มองคาดกรอบดัชนีฯ ในสัปดาห์นี้จะผันผวนในกรอบกว้างที่ 1,550-1,591 จุด หุ้นแนะนำเชิงกลยุทธ์ได้แก่ TTCL, BBL , CPN , BJC , IRPC, THANI หุ้นแนะนำเชิงเทคนิคได้แก่ HTECH , TWPC"นายวิน กล่าว
ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) การพิจารณาลด QE เป็นตัวแปรให้นักลงทุนระวังตัวมากขึ้น ตั้งแต่ธนาคารกลาง 3 แห่ง คือ เฟด-ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ให้ข่าวคล้ายๆ กันคือ จะลดการใช้ QE สัปดาห์ก่อน ตลาดตอบรับต่อเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 30 ปี ปรับเพิ่ม 0.12% มาอยู่ที่ 2.85% เมื่อวันศุกร์ แม้ค่าดอลลาร์จะไม่ขยับขึ้นมาก็ตาม (Dollar Index 95.6) แต่มีผลต่อตลาดหุ้น-พันธบัตรในตลาดเอเชีย เห็นได้ว่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศเริ่มลังเลและขายในบางตลาด หากยังขายต่อในสัปดาห์นี้จะเป็นลบ จึงแนะจับตาถ้อยแถลงของนาย Stanley Fischer หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 6 ก.ค.
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังเป็นตัวแปรที่มีผลต่อตลาด โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ดีดตัวขึ้นมาแตะ 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้อีกครั้ง หลังตัวเลขผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯและการใช้แท่นผลิตน้ำมันลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 24 เดือน แต่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ออกมาปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ เราประเมินหุ้นน้ำมัน-ปิโตรเคมีน่าจะดีขึ้น จากความกังวลต่อตัวเลขขาดทุนสต็อกน้ำมันที่น้อยลง
ส่วนปัจจัยในประเทศนั้นจับตาแรงซื้อ-ขายสัปดาห์แรกของไตรมาส 3, การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.ค. ที่คาดว่านโยบายการเงินยังไม่เปลี่ยนแปลง และการที่ตลาดจะเริ่มให้ความสนใจกับกำไรของหุ้นธนาคาร-น้ำมัน-ปิโตรฯ ที่จะรายงานงบการเงินไตรมาส 2/60 ก่อนกลุ่มอื่น ตัวแปรด้านเศรษฐกิจมองในทางบวกมากขึ้น แต่อาจต้องรอดูผลอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบโดยภาครัฐ สัปดาห์นี้ หากรัฐบาลไม่มีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆให้กับตลาด ตลาดจะเริ่มคึกคักน้อยลง
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายของนักลงทุนในช่วงสัปดาห์ก่อน ที่มีเรื่องของการปิดงบเข้ามา เรามองว่า อาจมีแรงซื้อกลับเขามาในตลาดบางส่วน ซึ่งจากสถิติ 3 ใน 5 ปี พบว่า SET Index ช่วง 15 วันแรกปรับตัวสูงขึ้นจาก 30 มิ.ย.