บลจ.ไทยพาณิชย์ วางเป้าเพิ่ม AUM ปีนี้ 1 แสนลบ.โต 8% ชิงมาร์เก็ตแชร์สูงสุด 20.25%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 3, 2017 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในปี 60 จะเติบโต 8% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่ารวมประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.25%

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 พ.ค. บริษัทมี AUM รวมอยู่ที่ 1.34 ล้านล้านบาท หรือเติบเติบ 3% และช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้บริษัทเตรียมเปิดตัวกองทุนใหม่อีก 5 กองทุน จากในช่วงครึ่งปีแรกออกกองทุนไปทั้งหมด 4 กองทุน สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายหลักที่ต้องการเป็น บลจ.ที่ 1 ในใจลูกค้า (The Most Admired AM) โดยเน้นแนะนำการลงทุนแบบกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เป็นหลัก (Multi-asset) เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าต้องการเป็นลักษณะที่เน้นรายได้จากการลงทุนระหว่างทาง (Income fund) หรือแบบสะสมมูลค่าเพื่อการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว

นายสมิทธิ มองว่า การลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจมากกว่ากลุ่มตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยมูลค่าพื้นฐานของหลักทรัพย์ รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่มาก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็กมีอัตราการเติบโตในระดับที่ค่อนข้างดี และราคาหุ้นถือว่ามีความน่าสนใจลงทุน เพราะหากผลการดำเนินงานในช่วงช่วงครึ่งปีหลังออกมาแล้ว P/E มีโอกาสปรับลดลง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้น

และคาดการณ์ว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปี 61 จะเติบโตได้ 15% เป็นแรงสนับสนุนตลาดหุ้นไทย

กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในการลงทุน ได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม อาหาร, สนามบิน และบันเทิง กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มธนาคาร ที่ปัจจุบันหนี้เสีย (NPL) เริ่มคงที่และทำผลประกอบการได้ดีขึ้น กลุ่มสื่อสารที่เริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวได้ดี และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มค้าปลีกที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากกำลังซื้อที่ดีขึ้น ซึ่งได้รับแรงปัจจัยหนุนจากราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น

"ตลาดบ้านเรายังถือว่าดีและมีโอกาสที่จะขึ้นอีก เพราะหากดูราคาหุ้นจากต้นปีมาจนถึงปัจจุบันยังไม่ไปไหน แต่ผลประกอบการยังออกมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและกลางที่มีการเติบโตในอัตราที่สูง จึงยังมีความน่าสนใจในการลงทุน และเชื่อว่าเงินลงทุนของไทยที่ออกไปยังต่างประเทศจะกลับมาในไม่ช้านี้"นายสมิทธ์ กล่าว

ด้านภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะขยายตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ เศรษฐกิจในสหรัฐฯที่มีแนวโน้มตัวเลขการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีโอกาสขยายตัวดีกว่าที่ประเมินจากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเช่น นโยบายการปรับโครงสร้างภาษี และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆของภาคการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ในยุโรปยังเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการขยายสินเชื่อของภาคการเงินเริ่มกลับมาเป็นกลจักรเดินเครื่องเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังได้รับปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัวก็ส่งผลบวกต่อเนื่องถึงกำไรบริษัทของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิเช่น ประเทศจีนซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นเอเชีย

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นมีปัจจัยบวกหลักมาจากความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนภาครัฐ และคาดว่าจะมีการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากรายได้ภาคการเกษตรฟื้นตัว หรือการครบอายุ 5 ปีของโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่ภาคการส่งออกของประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้ส่วผลบวกต่อการปรับตัวขึ้นของกำไรบริษัทจดทะเบียน

นายสมิทธิ กล่าวว่า ตลาดหุ้นโลกโดยรวมยังได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีการปรับตัวดีขึ้น โดยตลาดหุ้นเอเชียมีความน่าสนใจลงทุนเนื่องจากราคาหุ้นยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้วในหลายๆ ประเทศ ดังนั้น นักลงทุนควรจะใช้กลยุทธ์ทยอยสะสมเพื่อเฉลี่ยต้นทุน โดยหาจังหวะเพิ่มการลงทุนเมื่อตลาดหุ้นปรับฐานจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือเมื่อปัจจัยเสี่ยงมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด), การลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือประเด็นการเมือง เป็นต้น

"ตลาดหุ้นไทยหากคำนวณผลตอบแทนนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงมากในตลาดภูมิภาคโดยอยู่ที่ 23.2% และราคาหุ้นยังใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายกลับมาลงทุนยังไม่สูง นักลงทุนอาจจะพิจารณากระจายการลงทุนบางส่วนไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน"นายสมิทธ์ กล่าว

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังติดตามและอาจส่งผลทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวน คือ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยเฟดได้มีเป้าหมายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาที่ 1.25-1.50% ในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่เฟดจะส่งสัญญาณการทยอยลดวงเงินที่อัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินปี 51

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเมืองยุโรป แม้จะมีความผ่อนคลายลงหลังการเลือกตั้งฝรั่งเศส แต่ในปีนี้ยังคงมีการเลือกตั้งในประเทศใหญ่ที่ต้องจับตา ได้แก่ เยอรมนี และ อิตาลี ที่อาจจะจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ