นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิจิโนเซกิ ระยะที่ 2 ในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนต่ำกว่าการลงทุนในโครงการแรก ขนาด 20.8 เมกะวัตต์ ที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านเยน หรือกว่า 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
ปัจจุบัน บริษัทได้ซื้อใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) จากเจ้าของโครงการเดิม ซึ่งเป็นผู้ขายไลเซ่นส์ของโครงการแรกให้กับบริษัท โดยโครงการเฟสที่ 2 มีอัตราค่าไฟฟ้า 36 เยน/หน่วย ต่ำกว่าโครงการแรกที่ได้รับ 40 เยน/หน่วย แต่เชื่อว่าโครงการที่ 2 จะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 10% เท่ากับโครงการแรก เนื่องจากต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลง และบริษัทมีความเข้าใจการทำงานในพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งเป็นโครงการที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันก็สามารถใช้สาธารณูปโภคร่วมกันได้
หากบริษัทตัดสินใจดำเนินโครงการที่สองได้ภายในสิ้นปีนี้ก็คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีก่อสร้างแล้วเสร็จ เนื่องจากแม้จะได้ไลเซ่นส์ขั้นแรกมาแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้รับการอนุญาตจากทางการให้ดำเนินโครงการได้ ขณะที่การก่อสร้างโครงการเฟสแรกคืบหน้าไปแล้วราว 50% พร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนภายในเดือน ธ.ค.60
นายเติมชัย กล่าวว่า ในอนาคตบริษัทยังมองโอกาสการนำระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) เข้ามาใช้ร่วมในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าในชั่วโมงที่มากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น จากปกติที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 5 ชั่วโมง/วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การนำระบบ energy storage system มาใช้เพื่อรองรับพลังงานทดแทนดังกล่าวจะต้องมีต้นทุนต่ำจนคุ้มค่าที่จะดำเนินการ จากปัจจุบันที่ยังมีต้นทุนสูง
ทั้งนี้ การที่บริษัทได้ร่วมกับ 24 M Technologies Inc. (24M) ซึ่งคิดค้นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่จะนำมาใช้ระบบกักเก็บพลังงานให้มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพดีนั้นก็จะช่วยทำให้การดำเนินการระบบกักเก็บพลังงานมีต้นทุนถูกลงด้วย ซึ่งการศึกษาตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไทยจากการคิดค้นของ 24M คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
นายเติมชัย กล่าวว่า เบื้องต้น 24M เห็นว่าการผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ใช้เงินลงทุนราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัทก็อาจจะดำเนินการเป็นระยะๆ โดยแต่ละระยะมีกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะหาความร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มผู้ดำเนินการระบบกักเก็บพลังงานเพื่อดำเนินโครงการและทำตลาดร่วมกัน ซึ่งในวันนี้ก็จะได้นัดหารือกับผู้ใช้แบตเตอรี่ในญี่ปุ่นหลายราย เช่น NEC ,มิตซูบิชิ เป็นต้น เพื่อมองหาโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังจะเข้าไปเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อหาโอกาสในการเข้าดำเนินโครงการระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่ กฟผ.เตรียมที่จะเปิดประมูลหาผู้ดำเนินการเพื่อเป็นต้นแบบบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน
"เราจะเข้าไปคุย ก็แล้วแต่ กฟผ.ว่าอยากได้ final product แบบไหน เราอยากทำให้สำเร็จเป็นเคสที่ทำได้จริงในไทย"นายเติมชัย กล่าว
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ศึกษาการสร้างโรงงานแบตเตอรี่เพื่อนำมาใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาธุรกิจไบโอเคมิคอล ตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า (Electricity Value Chain) ซึ่งจะเป็นนโยบายที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
"มีความเป็นไปได้ในอนาคตระยะยาวพวกนี้จะมาทดแทนการขายโดยน้ำมัน วันนี้เดินไปทางนั้นแน่นอน ซึ่งเราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปร่วมพัฒนาตรงนี้มากกว่าที่จะเป็นผู้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง"นายเทวินทร์ กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวด้วยว่า ในระยะยาวมากหากโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามา ก็จะหันไปพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันเพื่อรองรับธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลักแทน