นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยถึง แนวโน้มตลาดหุ้นไทย และกลยุทธ์การลงทุนในครึ่งปีหลัง ว่า ASPS มองดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/60 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,560 - 1,595 จุด โดยมีปัจจัยบวกมาจากภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาด จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ,สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่ารวม 2.2 แสนล้านบาท
รวมถึงในครึ่งปีหลังนี้ จะมีการประมูลรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้น ที่มีการขายซองแล้ว 8 หมื่นล้านบาท และจะมีการเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติรถไฟฟ้าอีก 6 เส้นทาง มูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท ภายในเดือนก.ค.นี้ และน่าจะมีการเปิดประมูล และสรุปรายชื่อผู้ชนะประมูลภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้การส่งออกปีนี้ก็คาดว่าจะดีขึ้นจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ,อังกฤษ และจีน ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในครึ่งปีหลังนี้ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนน่าจะเห็นการฟื้นดีขึ้น อีกทั้งกำลังซื้อภายในประเทศครึ่งปีหลังนี้ก็น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจค้าปลีก ที่น่าจะเป็นตัวหนุนหลักในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งน่าจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 3.5% ขณะที่ปีหน้าคาดโตได้ราว 4%
สำหรับปัจจัยความเสี่ยงในไตรมาส 3/60 จะมีปัจจัยมาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก จากการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกตั้งในประเทศอิตาลีในช่วงเดือนก.ย.นี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Italexit) ตามอังกฤษ ที่อาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของยุโรป เนื่องจากอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรป รวมถึงยังต้องจับตาดู ธนาคารกลางสำคัญๆของโลก เช่น ยุโรป และอังกฤษ จะใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวตามสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายุโรปและอังกฤษจะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 61
นอกจากนี้ยังมองเรื่องของการประมูลรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้นทาง และรถไฟฟ้าอีก 6 เส้นทาง ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ หากมีความล่าช้าออกไปอาจจะกระทบต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ประกอบกับปัจจัยแรงงานต่างด้าว น่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทย เช่น SME ,ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนของขั้นตอนต่างๆที่ยังไม่ชัดเจน อาจจะกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการปรับตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น CPF ที่มีต้นทุนแรงงานราว 13% ของต้นทุนรวม และมีแรงงานต่างด้าวคิดเป็น 30% ของแรงงานทั้งหมด
นางภรณี กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/60 คาดว่าจะลดลงจากไตรมาสแรกที่ทำได้ 2.85 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วง Low Season มีวันหยุดยาวค่อนข้างมาก ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่น น้ำมัน และเหล็ก ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงเกิด Stock Loss แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.)จะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก
พร้อมกันนี้มองเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ครึ่งปีหลังนี้น่าจะไม่ต่างไปจากครึ่งปีแรก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องแต่คงไม่มาก ขณะที่มองภาพ Fund Flow ปีหน้า น่าจะกลับเข้ามามากขึ้น หากธนาคารกลางอังกฤษ และยุโรป มีความชัดเจนในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ย และกำไรบจ. อยู่ที่ระดับ 110 บาท/หุ้น บนสมมติฐานดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,650-1,700 จุด
ด้านกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3 เป็นการเลือกหุ้นรายตัวในประเทศเป็นหลัก ในกลุ่มที่คาดว่าผลประกอบการจะกลับมาเติบโตโดดเด่นได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง UNIQ,SYNTEC กลุ่มธนาคารพาณิชย์ SCB,KKP กลุ่มลิสซิ่ง THANI กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ LH,SPALI,SENA กลุ่มพลังงาน IRPC,PTT,RATCH กลุ่มพลังงานทดแทน BCPG,GUNKUL