สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ บมจ. การบินไทย (THAI) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) สำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โดยมีพลเรือตรี ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการ สบพ. และนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เป็นผู้ร่วมลงนามใน MOU โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเป็นประธานในพิธี
สบพ. และ การบินไทย เห็นพ้องร่วมกันถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล จึงได้ ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) สำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน และอวกาศ ระหว่าง สบพ. และ การบินไทยเพื่อร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา (U-Tapao International Airport Master Development Plan)
โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน และกำหนดกลไกประสานความร่วมมือในทุกระดับของการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการให้บริการการศึกษาและฝึกอบรม พัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะของบุคลากรด้านการบินให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐรวมถึงเอกชนในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรด้านการบิน โดยเฉพาะด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
พลเรือตรีปิยะ กล่าวว่า สบพ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีพันธกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีมาตรฐานสากล มีความพร้อมที่จะดำเนินการให้สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาล โดยประสานความร่วมมือกับ บกท.ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา การท่าอากาศยานอู่ตะเภา กองทัพเรือ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในการผลิตบุคลากรด้านการบินและอวกาศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานจากองค์กรการบินต่างๆ มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการฝึกอบรมที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย สามารถผลิตบุคลากรด้านการบินและอวกาศให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากลและมีจำนวนเพียงพอสำหรับการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ของประเทศไทยและภูมิภาคในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจการซ่อมบำรุงและ การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
นอกจากนั้น ขอบเขตของความร่วมมือยังครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการบินและ โลจิสติกส์ของไทย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการบินและอวกาศให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นางอุษณีย์ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างการบินไทยและสถาบันการบินพลเรือนสำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางด้านการบินและอวกาศมีเจตนารมณ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาร่วมกันในการจัดตั้ง Aviation Training Center ที่ดี และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ช่วยยกระดับในการพัฒนาหลักสูตรช่างอากาศยาน รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการบินและอวกาศให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล อาทิคณะกรรมการและหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency -EASA) สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration - FAA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) เป็นต้นเพื่อรองรับศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งใหม่ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมทั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานทั้งภายในประเทศ และภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังจะช่วยลดต้นทุนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันให้เกิดประโยชน์
โดยก่อนหน้านี้การบินไทยและกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระยะที่ 1 และการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ระยะที่ 1 เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล
การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ด้านการบินของชาติ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการบินและอวกาศของไทยและภูมิภาค เป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศและพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและส่งเสริม การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามแนวทาง “Thailand 4.0" ต่อไป