นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อร่วมลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Value Chain) กับกลุ่มเปโตรนาส ของมาเลเซีย ซึ่งเบื้องต้นจะให้บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างปตท.และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ฝ่ายละ 50% นั้น เข้าไปถือหุ้น 10% ในโรงงานผลิต LNG ของเปโตรนาส ที่เป็นการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาแปลงสภาพเป็น LNG ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลว (Liquefaction) โดยปัจจุบันโรงงานผลิต LNG ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว และในอนาคตจะขยายไปสู่การเจรจาเพื่อร่วมทุนในแหล่งผลิต LNG ต่อไป
"ที่ผ่านมาเราเจรจากับกาตาร์ เชลล์ บีพี เรารับซื้อ LNG อย่างเดียว แต่พอเปโตรนาส เราขอไปลงทุนต้นทางด้วยได้ไหม ทั้ง Upstream ทั้ง Liquefaction โรงงานผลิต LNG ด้วยความที่เรารู้จักกันนานพอสมควร แล้วเขาก็เห็นดีด้วย เพราะเมื่อราคา LNG ต่ำ ๆ เราก็เจ็บตัวกับเขา เวลาราคา LNG สูง ๆ เราก็ไม่ได้ไปไหน ตลาดเกิดความเชื่อมโยง เป็น partnership กันจริง ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เขาก็เห็นด้วย วันนี้ก็เจรจาแล้วว่าจะเข้าไปลงทุนในโรง LNG ของเขา 10% แล้วก็กำลังดู option ที่จะเข้าไปลงทุนในต้นทางที่ผลิตก๊าซฯเข้าโรงงาน แต่อันนี้ยังไม่ได้สรุป โกลบอล แอลเอ็นจี ก็จะเข้าไปลงทุนอันนี้ เป็น Value Chain เพื่อเข้าไปลงทุนรองรับก๊าซฯที่เราจะนำเข้าจากเปโตรนาส ในการเจรจาการจัดหา LNG ต่อไปก็จะใช้ concept นี้"นายเทวินทร์ กล่าว
ปัจจุบัน ปตท.ซึ่งเป็นผู้นำเข้า LNG เพียงรายเดียวของไทย มีสัญญารับซื้อ LNG จากกาตาร์ 2 ล้านตัน/ปี ,เชลล์ และบีพี รายละ 1 ล้านตัน/ปี ขณะที่ปลายปีที่แล้วรัฐบาลได้อนุมัติร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว (LNG SPA) กับเปโตรนาส มีกำหนดส่งมอบในปี 60-61 ในปริมาณรวม 1 ล้านตัน/ปี และตั้งแต่ปี 62 ในปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี อายุสัญญาประมาณ 15 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอทำสัญญาซื้อขาย LNG กับเปโตรนาส
นายเทวินทร์ คาดว่าการทำสัญญาเพื่อรับซื้อ LNG จากเปโตรนาสน่าจะใกล้แล้วเสร็จ แต่อาจไม่พร้อมกับการลงนามสัญญาเพื่อร่วมทุนในโรงงานผลิต LNG แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ ส่วนโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในแหล่งผลิตเพิ่มเติมนั้นยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ แต่ทางมาเลเซียก็อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุนเข้าไปลงทุน ขณะที่ปตท.กับทางเปโตรนาส ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่แล้ว ประกอบกับตลาด LNG ของไทยก็กำลังเติบโต และจะมีการนำเข้า LNG มากขึ้นเรื่อย ๆ และวันนี้ก็เป็นภาวะที่ผู้ผลิตต้องการจะหาพันธมิตรเพื่อให้เกิดความมั่นใจในระยะยาวว่าจะมีผู้ซื้อในตลาด ซึ่งตรงกับหลักการของปตท.ที่ต้องการจะเข้าไปเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้
สำหรับในระยะต่อไปการเจรจาเพื่อซื้อ LNG ก็จะมีการเจรจาเพื่อเข้าไปร่วมในแหล่งผลิตและโรงงานผลิต LNG ด้วย เช่นในกรณีของแหล่งโมซัมบิก ซึ่งเรื่องนี้คงต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป ส่วนในอนาคตกลุ่มปตท.จะมีการลงทุนในธุรกิจเทรดดิ้ง LNG ด้วยหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้
ส่วนแผนการจัดหา LNG ในระยะยาวขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนในการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะทำแผน PDP ฉบับใหม่ แต่เบื้องต้นปตท.ก็ได้มีการเจรจากับผู้ผลิต LNG ในหลายประเทศทั้งรัสเซีย และสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีการซื้อขายในตลาดจร (spot) อยู่บ้างแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะการทำเทรดดิ้ง โดยยังไม่ได้เจรจามากนักสำหรับการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันปตท.มีคลัง LNG แห่งที่ 1 ที่รองรับการนำเข้า LNG จำนวน 10 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากรัฐบาลว่าจะให้ขยายคลังแห่งที่ 1 เพิ่มเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี หรือ 15 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนก.ค. หรือส.ค.นี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการรอดูความชัดเจนของความต้องการใช้และปริมาณก๊าซฯที่จะเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าให้มีความชัดเจนก่อน
นอกจากนี้ ปตท.ยังได้รับอนุม้ติให้สร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งก็ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับการขยายคลัง LNG แห่งที่ 2 ในอนาคตด้วย ทำให้การนำเข้า LNG ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีข้างหน้ายังไม่มีปัญหามากนัก เพราะมีคลังรองรับเพียงพออยู่แล้ว