โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.บ้านปู (BANPU) หลังมองกำไรในไตรมาส 2/60 จะออกมาแข็งแกร่ง จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าและธุรกิจถ่านหิน ขณะที่การฟื้นตัวของราคาถ่านหินและโรงไฟฟ้าหงสาที่มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นบวกกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนที่เปิดดำเนินการแล้วเชื่อว่าจะช่วยหนุนให้กำไรสุทธิในปีนี้เติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว
ขณะที่ความกังวลของตลาดเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลฎีกาต่อคดีหงสานั้น แม้ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ แต่หากอ้างอิงตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นจะพบว่ากรณีเลวร้ายสุดจะกระทบต่อราคาหุ้น BANPU อยู่ที่ราว 4-6 บาท แต่ก็นับว่ายังมีอัพไซด์จากราคาหุ้นในปัจจุบันที่ปรับลดลงมาในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้น BANPU ปรับลดลงราว 20% เมื่อเทียบกับราคาถ่านหินที่ปรับลดลงราว 10% ทำให้ราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 15.70 บาท/หุ้นในปัจจุบันมีความน่าสนใจ
ราคาหุ้น BANPU ช่วงบ่ายอยู่ที่ 16 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท (+1.91%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 0.40%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 24.00 ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 25.00 เอเอสแอล ซื้อ 21.00 กรุงศรี ซื้อ 23.00 เคจีไอ (ประเทศไทย) Outperform 23.50 เอเซีย พลัส ซื้อ 24.00
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช รองกรรมการผู้จัดการ บล.เอเอสแอล กล่าวว่า ราคาหุ้น BANPU ที่ปรับลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลต่อคดีหงสาที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา แต่หากเทียบเคียงกับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้ BANPU จ่ายค่าเสียหายก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น BANPU ราว 4 บาท/หุ้น ทำให้ราคาเหมาะสมลดลงเหลือ 17 บาท จากเป้าหมายที่ 21 บาท ซึ่งยังมี Upside Gain จากราคาปัจจุบันอยู่มาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำตัดสินของศาลฎีกาต่อคดีหงสาจะออกมาเมื่อใด
นอกจากนี้ BANPU ยังมีความน่าสนใจจากการฟื้นตัวของผลประกอบการในไตรมาส 2/60 และปี 60 จากการฟื้นตัวของราคาถ่านหิน และผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้า โดยประเมินกำไรสุทธิในไตรมาส 2/60 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% จากไตรมาสก่อน จากการทำสัญญาขายถ่านหินก่อนหน้านี้ในระดับราคาสูง และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากเหมืองในออสเตรเลียที่ไม่ได้มีการย้ายอุปกรณ์ Longwall
สำหรับทิศทางราคาถ่านหินในระยะต่อไปคาดว่าจะยังยืนในระดับปัจจุบัน ภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่าราคาถ่านหินเฉลี่ยจะอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 65.9 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาขายถ่านหินของ BANPU ด้วย โดยให้สมมติฐานราคาขายถ่านหินของ BANPU ในปีนี้ไว้ที่ 66 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 28% จากปีที่แล้ว
ขณะที่ผลการดำเนินงานธุรกิจไฟฟ้าดีขึ้น จากโรงไฟฟ้าหงสาในลาว ที่มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น และรับรู้ผลการดำเนินงานได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนที่เปิดเดินเครื่องผลิตเมื่อปีที่แล้ว และที่จะเปิดดำเนินการอีกในปีนี้ หนุนให้กำไรสุทธิในปีนี้ของ BANPU เพิ่มขึ้น 148% มาที่ 8 พันล้านบาท
นายเบญจพล ยังเห็นว่าหุ้น BANPU กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ราคาหุ้นปรับลงมาอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนการปรับลดลงของราคาถ่านหินมากจนเกินไป โดยนับตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้น BANPU ปรับลดลงราว 20% เมื่อเทียบราคาถ่านหินลดลงราว 10%
"หุ้น BANPU มีความน่าสนใจในการลงทุนด้วย Valuation ที่ถูกจากการซื้อขายที่ราว 0.9 เท่าของ Book Value ซึ่งค่อนข้างต่ำ อีกทั้งราคาถ่านหินที่ปรับลดลงก็ไม่มากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ปรับลงเยอะ ขณะที่ worse case ของคดีหงสา อยู่ในระดับที่มีผลตอบแทนที่ยังลงทุนได้"นายเบญจพล กล่าว
ด้านบทวิเคราะห์บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ราคาหุ้น BANPU ลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราว 9% ขณะที่ราคาถ่านหินปรับขึ้น 3.2% นั้นเป็นเรื่องที่ Panic มากเกินไป โดยประเด็นเกี่ยวกับถ่านหินที่เกิดขึ้นในจีนตั้งแต่ต้นเดือนไม่ว่าจะเป็นข่าวการระงับการนำเข้าถ่านหินของจีนซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ของจีน เป็นเพียงผลกระทบทางจิตวิทยาเท่านั้น เพราะปัจจุบัน BANPU ยืนยันว่ายังสามารถส่งถ่านหินไปขายที่จีนได้ตามปกติ อีกทั้งในเชิงปฏิบัติโรงไฟฟ้าของจีนยังจำเป็นต้องใช้ถ่านหินนำเข้าด้วยเหตุผลด้านต้นทุน ส่วนในกรณีเลวร้ายที่ท่าเรือถูกระงับการนำเข้า BANPU อาจเปลี่ยนมาใช้ท่าเรืออื่น ซึ่งจะกระทบด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังสามารถขายถ่านหินได้
ขณะที่ประเด็นน้ำท่วมในจีนกลับส่งผลบวกต่อราคาถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในจีนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้หันมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการขยับขึ้นของราคาถ่านหินในช่วงนี้จึงเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น
ส่วนประเด็นคดีความหงสา ปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผล แม้ในกรณีเลวร้ายหากอ้างอิงคำตัดสินศาลแพ่ง ซึ่งระบุค่าเสียหาย 3.17 หมื่นล้านบาท ก็จะกระทบราคาเหมาะสม 6.1 บาท ทำให้เหลือ 17.9 บาท จากระดับ 24 บาท ซึ่งราคาหุ้น BANPU ในตลาดถือว่าซึมซับไปแล้วบางส่วน โดยราคาหุ้นที่ปรับลดลง ทำให้ P/BV ปัจจุบันเหลือเพียง 0.9 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.1 เท่า
ฟินันเซียฯ ยังมองว่ากำไรปกติของ BANPU ในไตรมาส 2/60 จะอยู่ที่ราว 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 422% จากงวดปีก่อน ซึ่งมาจากธุรกิจไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและหงสามีอัตราการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจถ่านหินน่าจะทรงได้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพราะแม้ราคาถ่านหินจะลดลง 3% จากไตรมาสก่อน แต่สามารถชดเชยได้จากปริมาณขายที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าราว 0.5 บาท/ดอลลาร์ ก็น่าจะทำให้มีรายการพิเศษขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 280 ล้านบาท ส่งผลให้คาดกำไรสุทธิที่ระดับ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 799% จากงวดปีก่อน
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่ากำไรสุทธิของ BANPU ในไตรมาส 2/60 จะอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและงวดปีก่อน โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จะมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง เนื่องจากไม่มีกำหนดปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสา และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากเงินบาทที่แข็งขึ้นแค่ 0.5 บาท/ดอลลาร์ จากที่แข็งขึ้นถึง 1.4 บาท/ดอลลาร์ในไตรมาส 1/60
แต่อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น BANPU ปรับตัวแย่กว่า SET ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเป็นห่วงเรื่องแผนของจีนที่จะห้ามขนส่งถ่านหินที่ท่าเรือขนาดเล็กบางแห่งเพื่อลดจำนวนการนำเข้าถ่านหินตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.60 แต่คาดว่าประเด็นนี้จะไม่กระทบปริมาณยอดขายถ่านหินจากเหมืองที่อินโดนีเซียของ BANPU มากนัก โดยยังคงแนะนำให้ซื้อ BANPU และคงราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 23.50 บาท คำนวณโดยวิธี SoTP ส่วนคดีหงสานั้น ศาลฏีกายังไม่กำหนดวันที่จะอ่านคำตัดสินในคดีโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งประเด็นนี้อาจจะทำให้ราคาหุ้นขยับขึ้นได้ไม่มากจนกว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นนี้