บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) แถลงโต้กระแสข่าวธนาคารเจ้าหนี้จับตาอาจผิดนัดชำระหนี้ โดยยืนยันสถานะทางการเงินแข็งแกร่งเพียงพอชำระหนี้ทั้งหมดที่มีทั้งตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) หุ้นกู้ และเงินกู้ที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมกว่า 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท ด้วยสินทรัพย์ขนาดกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสเงินสดกว่า 5 พันล้านบาท พร้อมเตรียมแผนเพิ่มทุนเสนอขายให้กับกลุ่มธุรกิจจีน คือ บริษัท ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาถือหุ้นเสริมศักยภาพในระยะยาว (Strategic Partner)
นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE กล่าวว่า บริษัทมั่นใจสภาพคล่องในปัจจุบันยังเพียงพอต่อการชำระหนี้ โดยปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งหมดกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสเงินสดในมือกว่า 5 พันล้านบาท โดยกระแสเงินสดที่มีอยู่บริษัทยืนยันว่าสามารถชำระคืนหนี้ตั๋ว B/E ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ทั้งหมด 4 พันล้านบาทได้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพื่อการบริหารจัดการงานต่างๆ และการลงทุนโครงการใหม่ ทำให้บริษัทต้องขอเงินกู้จากสาถบันการเงินเพื่อนำมาใช้เพื่อชำระคืนหนี้ตั๋ว B/E ดังกล่าว ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในวงเงิน 3 พันล้านบาท รองรับการชำระคืนหนี้ตั๋ว B/E ที่จะครบกำหนด 2 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือใช้รองรับการดำเนินงานอื่นๆ
บริษัทมองว่าการที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้เพราะยังให้ความเชื่อมั่นกับบริษัท เพราะที่ผ่านบริษัทยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้กับธนาคารที่ให้สินเชื่อในการดำเนินธุรกิจ ทั้ง SCB, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยมีวงเงินกู้รวมราว 9 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทมีหลักประกันเป็นสินทรัพย์จาก 3 โครงการอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ โครงการมหานคร โครงการมหาสมุทร และโครงการนิมิต หลังสวน มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นในการปล่อยกู้ให้กับบริษัท
“บริษัทยังไม่เคยมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้แบงก์ เราจ่ายคืนแบงก์ปกติทุกงวด ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ก็ยังมั่นใจในตัวบริษัทว่ายังมีศักยภาพมากพอที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้ และมีสินทรัพย์ของทั้ง 3 โครงการ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ที่เป็นหลักประกันความเสี่ยงให้กับแบงก์ ทำให้แบงก์ยังมั่นใจบริษัทอยู่และก็ไม่ได้เป็น case ที่ต้องเฝ้าระวัง"นายสรพจน์ กล่าว
สำหรับกาชำระคืนหนี้ตั๋ว B/E ที่ครบกำหนดในปีนี้จำนวน 4 พันล้านบาท บริษัทได้แบ่งเงินกู้จาก SCB จำนวน 2 พันล้านบาท จากวงเงินกู้ที่ SCB ให้ทั้งหมด 3 พันล้านบาท รองรับการชำระคืนตั๋ว B/E ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ถือตั๋ว B/E ของบริษัทที่ครบกำหนดอายุเรียกเงินคืนในสัดส่วน 50% หรือราว 2 พันล้านบาท ส่วนอีก 50% หรือจำนวน 2 พันล้านบาทเชื่อว่าจะให้บริษัทต่ออายุตั๋ว B/E ออกไป เนื่องจากนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าวเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท และยังพอใจในผลตอบแทนตั๋ว B/E
ส่วนเงินกู้วงเงิน 3 พันล้านบาทของ SCB นั้น บริษัทมีแผนจะนำเงินจากการโอนโครงการมหานครในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มาชำระคืน โดยมีกำหนดโอนโครงการราว 7 พันล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินทั้งหมด 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ตั๋ว B/E จำนวน 4 พันล้านบาท ครบกำหนดอายุชำระคืนในปีนี้ทั้งหมด หุ้นกู้ มูลค่า 5 พันล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 61 จำนวน 2-3 พันล้านบาท และเงินกู้สถาบันการเงินจาก 3 ธนาคาร คือ SCB KBANK และ BBL รวม 9 พันล้านบาท
นายสรพจน์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทเตรียมแสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้อนุมัติการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) เสนอขายให้กับพันธมิตรจากจีน คือ บริษัท ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้เข้ามาถือหุ้นใน PACE เป็นพันธมิตรที่เสริมศักยภาพให้กับบริษัทในระยะยาว (Strategic Partner) คาดว่าจะขออนุมัติจากคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 3/60 และคาดว่าจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PP ให้ซิติคฯ ได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยจำนวนการออกหุ้น PP และสัดส่วนถือหุ้นของซิติคฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา
การเปิดให้พันธมิตรจีนเข้ามาร่วมถือหุ้นใน PACE เป็นส่วนหนึ่งในการเซ็นสัญญาข้อตกลงร่วมกันระหว่าง PACE และ ซิติคฯ ในช่วงต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อตกลง 3 เรื่อง คือ 1.การเป็นพันธมิตรในงานก่อสร้างของโครงการที่บริษัทพัฒนาตามความเหมาสม เริ่มจากงานก่อสร้างโครงการ นิมิต หลังสวน วงเงินค่าก่อสร้าง 3 พันล้านบาท ซึ่งซิติคฯ ได้เข้ามาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการดังกล่าว
2.การเป็นผู้สนับสนุนแหล่งเงินทุนตามความเหมาะสมในโครงการของบริษัท ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและโครงการในอนาคต โดยทางซิติคฯ มีเครือข่ายธุรกิจด้านคอนสตรัคชั่น แบงก์ ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียม นิมิต หลังสวนนั้น ทางซิติคฯ ได้เข้าไปรีไฟแนนซ์กับ KBANK เพื่อให้เงินกู้ใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการดังกล่าวมูลค่า 3 พันล้านบาทในลักษณะโปรเจ็คไฟแนนซ์แทน ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างลงได้ราว 3%
และ 3.การเข้าถือหุ้นของบริษัท โดยการที่บริษัทจะออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับซิติคฯ เพื่อการเป็น Startegic Partner เสริมศักยภาพระยะยาวให้กับบริษัท
นายสรพจน์ กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าผลการดำเนินทั้งปีจะพลิกกลับมามีกำไร หลังจากช่วงที่ผ่านมาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 59 มีผลการดำเนินงานขาดทุน 2.32 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/60 ยังขาดทุน 575.64 ล้านบาท และคาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องในครึ่งแรกของปีนี้ แต่จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะพลิกกลับมามีกำไร จากการโอนโครงการมหานครราว 7 พันล้านบาท และโครงการมหาสมุทรที่จะเริ่มโอนในช่วงเดือน ก.ย.60 เป็นต้นไป ซึ่งจะโอนในปีนี้ราว 1 พันล้านบาท
ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีมูลค่าการโอนโครงการทั้งหมด 8 พันล้านบาท จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่ปัจจุบัน 1.54 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น Backlog จากโครงการมหานคร 7 พันล้านบาท โครงการมหาสมุทร 1.4 พันล้านบาท และโครงการนิมิต หลังสวน 7 พันล้านบาท
ส่วนโครงการนิมิต หลังสวน มูลค่า 7.5 พันล้านบาท ปัจจุบันปิดการขายไปแล้วที่ยอดขาย 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ซึ่งเป็นเพนท์เฮาส์ 2 ยูนิต ราคา 480,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งจะเปิดขายอีกครั้งเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 61 และจะเป็นปีเดียวกับที่โครงการนิมิตหลังสวนเริ่มทยอยโอน
นายสรพจน์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย 1.4-1.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1-1.3 หมื่นล้านบาท และรายได้จากร้าน Dean & Deluca 4 พันล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง 3 พันล้านบาท ซึ่งจะมีการนำโครงการมหานคร และโครงการมหาสมุทร ไปโรดโชว์ที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ตามด้วยฮ่องกง เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวจีนมาซื้อโครงการท้ง 2 มากขึ้น ซึ่งบริษัทจะใช้กลยุทธ์ผ่านการร่วมเป็นสมาชิกโครงการ Thailand Elite club โดยจะร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อขอวีซ่าระยะยาว 20 ปี ให้กับลูกค้าชาวจีนที่ซื้อโครงการของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเปิดตัวคอนโดมิเนียม “วินด์เชลล์" (WINDSHELL) มูลค่า 3.5 พันล้านบาท ตั้งอยู่บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ พื้นที่กว่า 2 ไร่ เป็นอาคารชุดพักอาศัยระดับลักชัวรี่ สูงกว่า 40 ชั้น ชูจุดเด่นการดีไซน์ตามทิศทางลมเพื่อการประหยัดพลังงาน ราคาขาย 85-100 ล้านบาท/ยูนิต หรือเริ่มต้นที่ 180,000-220,000 บาท/ตารางเมตร จำนวน 36 ยูนิต ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก KBANK โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดพรีเซลแล้วไปเมื่อต้นเดือน ก.ค. 60 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง
ขณะเดียวกันบริษัทมองว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 61 จะเป็นปีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานฟื้นขึ้นอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีรายได้เข้ามาจากการโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์ การเปิดให้บริการโรงแรมภายในโครงการมหานคร คือ The Bangkok Edition จำนวน 155 ห้อง อัตราค่าห้องพัก 8,000-10,000 บาท/ห้อง/คืน ซึ่งจะสร้างรายได้เฉลี่ย 800-900 ล้านบาท/ปี ภายใต้คาดการณ์อัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 70%
และรายได้จากจุดชมวิว (Mahanakorn Observation Desk) บนโครงการมหานคร ชั้นที่ 74-77 ที่จะสร้างรายได้เฉลี่ย 1.5 พันล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นกำไรเฉลี่ยที่ 1 พันล้านบาท โดยจุดชมวิวดังกล่าวมีอัตราค่าบริการสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 800 บาท/คน และสำหรับคนไทยและนักเรียนนักศึกษาจะเป็นอัตราพิเศษ
ทั้งในส่วนของโรงแรมและจุดชมวิวจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 61 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ประจำ (Recurring income) เข้ามาในสัดส่วน 15% หลังจากแบ่งรายได้กับพันธมิตร คือ Apollo Global Investment และ Goldman Sach ที่ถือหุ้นของทั้ง 2 โครงการในสัดส่วนรวมกัน 49% และบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 51% อีกทั้งในอนาคตบริษัทวางแผนที่จะนำโรงแรมและจุดชมวิวเข้าจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เพื่อนำเงินมาลงทุนต่อยอดโครงการอื่นๆในอนาคต
ด้านธุรกิจร้าน Dean & Deluca ในปีนี้จะเน้นการขยายสาขาในประเทศไทยเป็นหลัก โดยในสิ้นปีนี้จะจำนวนสาขาจะเพิ่มเป็น 15 สาขา จากปีก่อน 9 สาขา ซึ่งเปิดไปแล้วในครึ่งปีแรก 3 สาขา และจะเปิดใหม่ในครึ่งปีหลังอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาสุวรรณภูมิสาขา 2 สาขาสีลมใกล้สถานีบีเอสศาลาแดง และสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 10 ล้านบาท ขณะที่การขยายสาขาในสหรัฐอเมริกาจะเริ่มปลายปีนี้ เงินลงทุนเฉลี่ย 50 ล้านบาท/สาขา
นายสรพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการนำ Dean & Deluca จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งบริษัทยังต้องขยายสาขาเพื่อทำให้ Dean & Deluca ถึงจุดคุ้มทุนก่อน ซึ่งปัจจุบันร้าน Dean & Deluca มีจำนวนสาขากระจายอยู่ทั้งไทยและต่างประเทศรวม 61 สาขา