นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานปี 60 จะดีกว่าระดับ 59 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว โดยไตรมาส 1/60 ทำได้แล้ว 79 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลจากธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้าที่ดีขึ้น ขณะที่ตั้งเป้ารายได้สกุลเหรียญสหรัฐในปีนี้จะเติบโตกว่า 20% จาก 2.26 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว จากราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในปีนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 20% จากปีที่แล้ว ส่วนเป้าปริมาณขายถ่านหินปีนี้อยู่ที่ 45 ล้านตัน ทรงตัวจากปีก่อน ซึ่งในครึ่งแรกปีนี้ทำได้แล้วราว 21 ล้านตัน
ทั้งนี้ ประเมินว่าราคาขายถ่ายหินเฉลี่ยของบริษัทในปีนี้จะอยู่ที่ราว 63 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากระดับ 51.53 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปีนี้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 65 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาขายถ่านหินเฉลี่ยที่ปรับตัวขึ้นเป็นผลจากปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ตลาดที่เริ่มเข้าสู่สมดุล คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ราคาถ่านหินในตลาดน่าจะทรงตัวอยู่ที่ราว 83 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายจะมีปริมาณถ่านหินสำรองในอินโดนีเซียเพิ่มเป็น 15 ปี หรือราว 375 ล้านตันภายในปี 63 จากปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองถ่านหินราว 11 ปี หรือเกือบ 300 ล้านตัน หลังมีแผนลงทุนที่จะขุดเหมืองถ่านหินให้ลึกขึ้น รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพิ่มเติม ซึ่งหวังว่าจะได้เห็นในปีนี้
สำหรับธุรกิจไฟฟ้าในปีนี้จะดีขึ้นจากโรงไฟฟ้าหงสาในลาวที่สามารถใช้อัตราการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนที่เพิ่มเข้ามา
"การเติบโตในของปี 2017 จะเติบเติบโตได้ดีกว่าปี 2016 ที่ผ่ามาในทุก operation ของบ้านปู หลัก ๆ มาจากธุรกิจถ่านหินที่มีราคาขายปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ก็จะมีส่วนเพิ่มเติมของโรงไฟฟ้าหงสา ที่เดินเครื่องได้ดีขึ้น หลังจากในช่วงนี้เป็นปีที่ 2 ที่ run 3 ยูนิตพร้อม ๆ กัน และพบว่าการดำเนินการ run ไปได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ บางช่วงอาจจหยุดบ้างนิดหน่อยเพื่อปรับปรุงก็เป็นระยะเวลาแค่เพียงสั้น ๆ 6 เดือนที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าหงสา run ได้ดีขึ้น ที่เรียกว่า effective availability hours ตัวนี้ก็ขึ้นไปถึง 70-80% ก็มีเป้าหมายที่จะให้อยู่ระดับ 80% ขึ้นไป เทียบกับปีที่แล้วอยู่ใกล้ ๆ 70% ผลประกอบการของหงสาที่เข้าสู่บ้านปู เพาเวอร์ ได้ดีขึ้น"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ตลาดถ่านหินจีนนั้น ยังพบว่าจีนยังมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น และการใช้ถ่านหินยังคงเติบโตอยู่แม้จะอยู่ในอัตราชะลอตัวในระยะยาว จากนโยบายของจีนที่ต้องการพัฒนา 3 จังหวัดใหญ่ให้เป็นเมืองสะอาดในระยะยาวก็ตาม โดยการใช้ถ่านหินที่ยังคงมีอัตราการเติบโตของจีนทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาถ่านหินในตลาดโลกมากนัก ส่วนการปิดท่าเรือเล็กในจีนตั้งแต่ 1 ก.ค.นั้นไม่ได้กระทบต่อบริษัท เพราะลูกค้าของบริษัทเป็นลูกค้าขนาดใหญ่ที่ยังดำเนินการปกติและมีการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นด้วย จากสถานการณ์น้ำท่วมในมณฑลทางตอนใต้ของจีนส่งผลให้ 2 เขื่อนใหญ่ของจีนไม่สามารถปล่อยน้ำออกมาได้ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องผลิตไฟฟ้าชดเชยโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตไฟได้น้อยลง
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีอยู่ 160 เมกะวัตต์ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด โดยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 63
"ภาพที่ได้มาจากจีนไม่ได้เป็นภาพเชิงลบทั้งการเติบโตของการใช้พลังงาน และการยังเติบโตอยู่ของการใช้ถ่านหิน ราคาถ่านหินที่ยังสูงและมีความมั่นคงอยู่ ผลที่มาถึงตลาดภายนอก ก็จะเห็นว่าราคาถ่านหินในตลาด seaborne market ก็ยังวิ่งขึ้นไปอยู่ตอนนี้เห็นที่ 83 เหรียญ ราคาในอนาคตในไตรมาส 3 และ 4 ก็ยังอยู่ 83 เหรียญ และยังมีพื้นฐานที่แข็งแรงอยู่เพราะว่าทางอินโดนีเซีย ทางออสเตรเลีย ไม่ได้มีการส่งถ่านหินออกมาเพิ่มขึ้น การที่คนกลัวว่าจีนนำเข้าถ่านหินน้อยลง สัญญาณที่จีนนำเข้าถ่านหินน้อยลงก็ไม่ได้ชัดเจน แล้วด้าน supply ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็เลยไปสร้างความสมดุลด้าน demand supply ในตลาด seaborne market ทำให้ราคายืนเหนือ 80 เหรียญ/ตันมา 7-8 อาทิตย์แล้ว ซึ่งก็น่าจะทรงตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากยังทรงตัวในไตรมาส 3 หรืออ่อนตัวลงบ้าง แต่ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวราคาถ่านหินจะปรับตัวเพิ่มขึ้น"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวว่า การขายถ่านหินในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มาจากอินโดนีเซีย 11 ล้านตัน ,ออสเตรเลีย 7.2 ล้านตัน และจีน 2.4 ล้านตัน โดยการขายในอินโดนีเซียมีเป้าหมายการขายในปีนี้ 24-25 ล้านตัน การกำหนดราคาขายแล้ว 60% ที่ราคาเกิน 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนอีก 23% เป็นการขายในราคาตลาดอ้างอิงดัชนีถ่านหิน ขณะที่อีก 17% มีสัญญาการขายแล้วแต่ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย ขณะที่การขายในออสเตรเลียตั้งเป้าหมายในปีนี้ที่ 13-14 ล้านตัน ซึ่งราว 90% มีสัญญาซื้อขายแล้ว ส่วนการขายในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการขายที่ 4-5 ล้านตัน
สำหรับธุรกิจไฟฟ้ากลุ่มบริษัทยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,300 เมกะวัตต์ ในปี 68 โดยในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 20% ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน 160 เมกะวัตต์ที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว จากเป้าหมายที่จะมี 300 เมกะวัตต์ในปี 63 และญี่ปุ่นมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมือแล้ว 200 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 12 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟฟ้าอีก 10 เมกะวัตต์ในปลายปีนี้ ขณะที่คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ครบทั้งหมดในปี 63
ปัจจุบันกลุ่มบ้านปู มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 2,608 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2,069 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 539 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ทั้งหมดภายในปี 63