ร.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องบินในช่วง 5 ปี หรือปี 60-64 โดยจัดหาเครื่องบินจำนวน 28 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินของสายการบินไทย จำนวน 19 ลำ โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 17 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ ส่วนอีก 9 ลำ เป็นของสายการบินไทยสมายล์ และคาดว่าจะเริ่มรับมอบเครื่องบินลำแรกได้ในปลายปี 62
ทั้งนี้ การจัดหาเครื่องบินใหม่นี้จะช่วยให้อายุเครื่องบินลดลงเหลือเฉลี่ย 8 ปี จากปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 11 ปี
หลังจากนี้ บริษัทจะให้ผู้ผลิตเครื่องบินและผู้ให้เช่าเครื่องบิน นำเสนองบการเงินและเจรจาต่อรองราคากัน ขณะเดียวกันจะจัดทำแผนการเงินของบริษัทในช่วง 5 ปีที่จะใช้ลงทุนโครงการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวเพื่อเสนอรายละเอียดโครงการนี้ต่อคณะกรรมการบริษัทภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนจะส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา โดยคาดว่าไม่เกิน 3 เดือนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการได้
ร.อ.มนตรี กล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำของการบินไทย เพื่อเพิ่มเที่ยวบินไปสมุย ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกับเส้นทางยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของการบินไทย
"เรื่องวงเงินงบประมาณการจัดหาเครื่องบินต้องรอบริษัทผุ้ผลิตเครื่องบินส่งมาให้ดูก่อนและจะมีการเจรจากัน จะเริ่มเดินหน้าได้หลังครม.อนุมัติแล้ว"
ร.อ.มนตรี กล่าวว่า บริษัทกำหนดแผนจัดหาเครื่องบิน 2 ระยะ โดยช่วง 5 ปีแรก คือ ในปี 61-64 จะเป็นการจัดหาเครื่องบินทดแทนเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง 28 ลำเพื่อรักษาจำนวนฝูงบินไว้ที่ 100 ลำ เนื่องจากบริษัทยังอยู่ในช่วงแผนปฏิรูปองค์กรจึงต้องประคับประคองผลประกอบการไว้
ส่วนการจัดหาเครื่องบินในช่วงที่ 2 หรือ 5 ปีหลัง ในปี 65-69 จะเป็นการทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวางจำนวน 22 ลำ รวมทั้งเพิ่มเครื่องบินใหม่เข้ามาเพื่อเสริมรายได้ ทั้งนี้ จะนำเสนอแผนงานอีกครั้งหลังจากโครงการจัดหาเครื่องบินช่วง 5 ปีแรกเรียบร้อยไปแล้ว
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพ-เวียนนา เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.นี้ หรือในตารางบินฤดูหนาว โดยทำการบิน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 คาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ในปีแรก โดยตั้งเป้าอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ 77%
ร.อ.มนตรี กล่าวว่า กรุงเวียนนา ถือเป็นจุดหมายปลายทางในยุโรปตะวันออกที่มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ซึ่งการบินไทยได้สำรวจเส้นทางดังกล่าวมานาน 6 เดือนเห็นว่าได้รับความนิยมในระดับที่ดี ทั้งนี้ ผู้โดยสารกลุ่มเป้าหมายอยู่ในกลุ่มเอเชีย, ตะวันออกกลาง เดินทางไปยังยุโรปตะวันออกประมาณ 40% ขณะที่ผู้โดยสารจากทางยุโรปตะวันออกรวม ออสเตรีย คาดไว้ที่ประมาณ 60% สำหรับความคืบหน้ากรณีปัญหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ที่ติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ รุ่น Trent-1000 ต้องจอดรอการซ่อมนั้น ร.อ.มนตรี กล่าวว่า ทางโรลสรอยซ์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องรุ่นดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน การบินไทย มีเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จำนวน 6 ลำ ในเดือน ก.ค.จะนำไปซ่อม 3 ลำ และเดือน ส.ค.จะนำไปซ่อมอีก 2 ลำ คาดว่าเดือน ก.ย.นี้จะกลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี การบินไทยจะเรียกค่าเสียหายกับโรลสรอยซ์ จากการที่บริษัทเสียรายได้จากการหยุดซ่อมและค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้จะสามารถประเมินค่าเสียหาย และจะมีการหารือกัน 3 ฝ่าย คือการบินไทย โรลสรอยซ์ และโบอิ้ง ในการเรียกค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าว หลังจากในเดือนก.ค.ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะเส้นทางนาโกย่าที่ต้องควบรวมกับเที่ยวบินอื่น ขณะที่เส้นทางสิงคโปร์ ที่ทำการบิน 4 เที่ยวบินต่อวัน และเชียงใหม่ 1 เที่ยวบินได้โอนให้สายการบินไทยสมายล์บินทดแทน ส่วนในเดือน ส.ค.จะกระทบกับเส้นทางเชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งโอนให้สายการบินไทยสมายล์บินแทน