นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายเบื้องต้นที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในมือเพิ่มเป็น 55 เมกะวัตต์ ภายในปี 61 ทั้งจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าขยะ จากปัจจุบันที่มีแล้ว 14.5 เมกะวัตต์
บริษัทเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ โดยอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าโคกเจริญที่เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของบริษัทใน จ.สระแก้ว ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวเคยเปิดเดินเครื่องมาแล้ว แต่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องไป ดังนั้น หากสามารถบรรจุข้อตกลงได้ก็จะสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 900 ล้านบาท
ส่วนโรงไฟฟ้าโคกเจริญ ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ มีสัญญาขายไฟฟ้า (PPA) 8 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องได้ตามแผนงานภายในเดือน มี.ค.61 โดยจะจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนราว 5-6 ปี
พร้อมกันนั้น ยังเตรียมแผนเข้ายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจำนวน 5 โครงการ โดยคาดหวังจะได้เข้าร่วมอย่างน้อย 3 โครงการ ขนาดกำลังผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ มี PPA ที่ 8 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้เจรจาความร่วมมือเบื้องต้นกับเทศบาลเมืองของจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือไว้แล้ว คาดว่าจะมีปริมาณขยะรองรับไม่น้อยกว่า 300-500 ตัน/วัน ประเมินการลงทุนแห่งละราว 1.5 พันล้านบาท และน่าจะได้รับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 5.6 บาท/หน่วย
นายวีระพล กล่าวว่า แผนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากเยอรมนี จะต้องประกอบด้วยโรงแยกขยะที่จะต้องร่วมทุนกับทางเทศบาลและมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากการกำจัดขยะ โดยขยะที่เผาไหม้ได้ก็จะถูกส่งเข้าโรงไฟฟ้าขยะ และขยะอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นขยะเปียกจะนำไปหมักเป็นก๊าซเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชีวภาพที่อาจจะมีขนาดประมาณ 1-2 เมกะวัตต์ขึ้นกับปริมาณขยะดังกล่าว
สำหรับเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะจะนำมาจากเงินทุนของบริษัทราว 1.5 พันล้านบาท และเงินกู้ราว 3 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนของเงินทุนของบริษัทนั้นหากได้เข้าร่วมโครงการบริษัทก็จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) จำนวนไม่เกิน 200 ล้านหุ้นเอาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว
"เรากำลังรอประกาศจากมหาดไทยซึ่งน่าจะมีการกำหนดประเด็นสำคัญอย่าง ปริมาณขยะ สภาพแวดล้อม ประชากรในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 3 กิโลเมตรที่จะต้องรับฟังความเห็น จากนั้นก็ต้องเอามาศึกษาโครงการทั้งหมด"นายวีระพล กล่าว
ส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สมุทรสาคร ซึ่งบริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด ( CWTG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT ร่วมลงทุนกับบริษัท บลู โซลาร์ฟาร์ม 3 จำกัด (BSF3) โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49% โดยเป็นผู้สนับสนุนโครงการของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สมุทรสาคร จำกัด ได้ COD ไปแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.59
ด้านแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทนั้น นายวีระพล กล่าวว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตได้ดีขึ้นมากในปี 61 หลังจากรับรู้ธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามามากขึ้น จากปีนี้คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นเป็น 1.6 พันล้านบาท โดยในปีหน้าสัดส่วนรายได้จากโรงไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ขณะที่ธุรกิจหลักคือหนังฟอกยังมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะจากลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นค่ายรถยนต์ทั้งฮอนด้าและอีซูซุออกรถยนต์โมเดลใหม่
นายวีระพล ยังชี้แจงถึงข้อกังวลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าโคกเจริญว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้ CWT เข้าลงทุนในหุ้นของ บริษัท โคกเจริญ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (KE) โดยกำหนดเงื่อนไขชำระเงินเบื้องต้น 50 ล้านบาท และจะชำระส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาทเมื่อผู้ขายดำเนินการตามสัญญาแล้วเสร็จ ซึ่งหมายรวมถึงใบ รง.4 ด้วยนั้น
CWT ได้ชี้แจงกับ ก.ล.ต.ว่าในทางปฏิบัติบริษัทได้จ่ายเงินส่วนที่ 2 โดยไม่ได้รอใบ รง.4 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเห็นว่าผู้ขายมีปัญหาบางประการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงได้เจรจากับทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและได้รับคำตอบว่าสามารถยื่นขอใบ รง.4 และดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง จึงตัดสินใจชำระเงินในส่วนที่เหลือดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินโครงการได้ ซึ่งเป็นการตัดสินทางธุรกิจที่ยึดผลประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง แม้ว่าอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ก็สามารถทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้