นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ ตลท.ขอให้ผู้ถือหุ้นบมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) รายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จัดขึ้นเองเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ตลท.นำไปเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ
การประชุมดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 100 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายสามารถจัดการประชุมได้ โดยตลท.มองว่าเป็นสิทธิในการดำเนินการของผู้ถือหุ้นที่เป็นไปตามระเบียบ แต่อย่างไรก็หากผู้ถือหุ้นที่จัดการประชุมไม่แจ้งให้กับบริษัท และ ตลท.ได้ทราบ จะส่งผลให้ทางตลท.และประชาชนรายอื่นๆ ไม่ทราบข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น และไม่สามารถช่วยหาแนวทางแก้ไขได้
“ทางตลาดฯยังไม่ทราบว่าการประชุมที่ผู้ถือหุ้น POLAR จัดขึ้นมาเมื่อวานนี้มีเนื้อหาเป็นอย่างไร และการจัดประชุมถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตลาดฯก็ได้แจ้งไปยัง POLAR เพื่อให้ชี้แจงความคืบหน้าแล้ว และเราก็อยากให้ผู้ถือหุ้นที่จัดประชุมส่งข้อมูลการประชุมแจ้งกับ POLAR และให้ทาง POLAR ส่งมาแจ้งกับตลาดฯอีกที เพื่อเราจะได้ทราบและแจ้งต่อประชาชนอย่างเป็นทางการต่อไป"นางเกศรา กล่าว
ส่วนกรณี บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ตลท.ยังไม่ได้รับการแจ้งความคืบหน้าในการตั้งผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ขอให้ EARTH ปฏิบัติตาม ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าของระยะเวลาที่จะปลดเครื่องหมาย SP ของหุ้น EARTH
นางเกศรา กล่าวว่า จากกรณีตัวอย่างของ POLAR และ EARTH ทาง ตลท.แนะนำให้นักลงทุนจะต้องศึกษางบการเงินของบริษัทจดทะเบียนอย่างรอบคอบก่อนการลงทุน เช่น ภาระหนี้สินของบริษัทที่มีมูลค่าสูงหรือไม่ และมูลค่าสินทรัพย์ต้องมีความสมเหตุสมผลกัน รวมไปถึงการวิเคราะห์ความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งการศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบคอบจะช่วยให้การลงทุนไม่เผชิญกับความเสี่ยงมาก
ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลท.ร่วมกับบล.กรุงศรี จัดโรดโชว์ในญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เพราะ MUFG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น และในช่วงที่ผ่านมา MUFG ได้ตั้งผู้บริหารที่เป็นคนไทยเข้าไปอยู่ในกลุ่มของ MUFG ในญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทที่มาจากญี่ปุ่นแท้ๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เห็นถึงการที่ผู้ลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี มีปันผลสม่ำเสมอ และที่ผ่านมาบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่หลายบรายใช้เครื่องมือทางการเงินของตลาดทุนไทย อย่างเช่น การออกตั๋ว B/E และการออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนมาใช้สำหรับการขยายการลงทุนในประเทศไทย