นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) คาดว่ารายได้รวมปีนี้จะเติบโตกว่าระดับ 4.73 พันล้านบาทในปีก่อน จากยอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่ราว 1 พันล้านบาทในปัจจุบัน จะทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 60-61 และจากรายได้ประจำ (Recurring Income) ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโต 15-20% ตามการขยายตัวของโรงงาน ขณะที่ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในอนาคต จากราว 50% ในปัจจุบัน เพื่อลดความผันผวนจากการขายที่ดิน
ขณะที่ยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินของกลุ่มบริษัทในปีนี้ไว้ที่ระดับ 1 พันไร่ เพิ่มขึ้นจากระดับ 638 ไร่ในปีก่อน แม้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้จะทำได้กว่า 150 ไร่เท่านั้น แต่เชื่อว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ราวเดือน ต.ค.ปีนี้ ซึ่งบริษัทเตรียมปรับขึ้นราคาที่ดินหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ด้วย
"รายได้รวมปีนี้โตกว่าปีที่แล้วแน่ จาก Recurring Income ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 15-20% และ ณ วันนี้เราก็มี Backlog อีกราว 1 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในปีนี้และปีหน้า แต่รายได้จากการโอนที่ดินปีนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะว่า Backlog ที่มีส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อมตะซิตี้ ซึ่งราคาไม่สูงมากนัก...ส่วนในไตรมาส 2/60 รายได้เราออกมาดีแน่เมื่อเทียบ yoy เพราะทยอยโอน Backlog เข้ามาเป็นรายได้ และ Recurring Income ที่เพิ่มขึ้น"นายวิบูลย์ กล่าว
นายวิบูลย์ กล่าวว่า สำหรับยอดขายที่ดินในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สามารถทำได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการ EEC ที่ชะลอออกไป แต่เชื่อว่ายอดขายที่ดินจะกลับเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเสนอขายที่ดินราว 1 พันไร่ในมือให้กับกลุ่มนักลงทุนที่สนใจทั้งจีน ,ญี่ปุ่น ,ยุโรป และสหรัฐ โดยรอความชัดเจนของกฎหมาย EEC ที่จะออกมา เบื้องต้นคาดการณ์ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในราวเดือนต.ค.นี้
ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง (Aerospace) เช่น โบอิ้ง ,โรลส์-รอยซ์ ขณะที่ปัจจุบันมี Triumph เป็นกลุ่มลูกค้าของบริษัทอยู่แล้วก็อาจจะมีแนวโน้มที่ลงทุนเพิ่มเติม
ขณะที่ในปีนี้บริษัทยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาขายที่ดิน โดยปัจจุบันราคาขายที่ดินสำหรับนิคมฯอมตะนครใน จ.ชลบุรี อยู่ที่ 8.5 ล้านบาท/ไร่ ส่วนนิคมฯ อมตะ ซิตี้ ในจ.ระยอง อยู่ที่ 3.8 ล้านบาท/ไร่ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นหากกฎหมาย EEC มีผลบังคับใช้ แต่ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันมีพื้นที่พัฒนาแล้วพร้อมขายอีกราว 3.5 พันไร่ ในนิคมฯ 2 แห่งในประเทศทั้งอมตะนครและอมตะซิตี้ รวมถึงยังมีพื้นที่รอการพัฒนาอีกจำนวนมาก
สำหรับเป้าหมายยอดขายที่ดิน 1 พันไร่ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท แม้ว่ายอดขายที่ดินจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 638 ไร่ในปีก่อน แต่ในส่วนของมูลค่าการขายอาจไม่ได้ปรับตัวมากนัก เนื่องจากการขายพื้นที่ในปีนี้คาดว่าจะมาจากนิคมฯอมตะซิตี้ เป็นส่วนใหญ่ราว 450 ไร่ ,อมตะ เบียนหัว ที่เวียดนาม 125 ไร่ ,อมตะไทย-ไชนิส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้ร่วมทุนกับกลุ่ม Holly จากจีน ในการจัดหาที่ดินในพื้นที่อมตะซิตี้ ขายให้กับนักลงทุนจากจีน ราว 350 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นการขายพื้นที่ในอมตะนคร ขณะที่การขายที่ดินในปีที่แล้วมาจากนิคมฯอมตะนคร เกือบ 200 ไร่
ส่วนการพัฒนาพื้นที่นิคมฯลองถั่น ในเวียดนาม นั้น คาดว่าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่ราว 2.56 พันไร่ ในช่วงไตรมาส 3/60 และเริ่มขายพื้นที่ได้ในไตรมาส 4/60
นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น หลังสถานการณ์การเมืองในประเทศเริ่มนิ่ง และรัฐบาลยังให้สิทธิพิเศษการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเชื่อว่าจะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน แต่อย่างไรก็ตามการขายที่ดินยังคงมีผันผวนตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ทำให้บริษัทก็จะหันมาให้ความสนใจกับ Recurring Income มากขึ้นเพื่อให้รายได้เข้ามาอย่างมีเสถียรภาพ
ในปีที่ผ่านมา Recurring Income มีสัดส่วนราว 50% ใกล้เคียงกับรายได้จากการขายที่ดิน ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายในอนาคตจะเพิ่ม Recurring Income เป็นสัดส่วน 80% และรายได้จากการขายที่ดินจะเหลือเพียง 20%
โดยแนวโน้ม Recurring Income ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีกราว 15-20% จากระดับ 1.7 พันล้านบาทในปีก่อน ตามการเติบโตของการขายสาธารณูปโภคให้กับโรงงานในนิคมฯของกลุ่มบริษัท ทั้งในส่วนของการขายน้ำประปาและไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่บริษัทร่วมลงทุนอยู่นั้นทยอยเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทได้ร่วมลงทุน 12% ในบริษัท STUMPF AMATA จำกัด โดยมี STUMPF จากออสเตรีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 88% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (โซลาร์รูฟท็อป) จำหน่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานภายในกลุ่มนิคมฯอมตะ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปีหน้า และมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 3 ปี ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้าง Recurring Income ให้เพิ่มขึ้นด้วย
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศเริ่มให้ความให้สนใจจะเข้ามาลงทุนในหุ้นบริษัท ซึ่งล่าสุดมีนักลงทุนจากฮ่องกง และมาเลเซีย ติดต่อเข้ามาหารือ เพราะเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยมากขึ้น รวมถึงบริษัทอาจจะเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ในจีน เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้วย จากปัจจุบันที่บริษัทกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทได้เกิน 50%