นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยถึงรายละเอียดการเสนอขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ว่า บริษัทได้นำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) แก่นักลงทุนสถาบันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี จากนักลงทุนสถาบันมีความสนใจจองซื้อกันจำนวนมาก โดยคาดว่าจะสามารถกำหนดราคาสุดท้ายในการเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ หลังจากได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายIPO ระหว่าง 9.90-10.40 บาท/หน่วย ขณะที่คาดว่า BRRGIF น่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ในวันที่ 7 ส.ค.60
"จากการไปโรดโชว์แก่สถาบัน ก็พบว่ามีความต้องการซื้อเข้ามาเกินครึ่ง เนื่องจากกองทุนให้ผลตอบแทนที่สูง และมีความมั่งคง ขณะที่นักลงทุนทั่วไป หรือรายย่อย ก็มีความต้องการซื้อเข้ามาจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเราคาดว่าจะสามารถสรุปราคาสุดท้ายได้ในวันที่ 24 ก.ค.นี้"นายอนันต์ กล่าว
อนึ่ง BRRGIF จะขายหน่วยลงทุน IPO จำนวน 350 ล้านหน่วย โดยจะแบ่งขายตามโครงสร้างผู้ถือหน่วยลงทุน ได้แก่ BRR จำนวน 20% ,ผู้ถือหุ้นเดิม BRR จำนวน 13% ,นักลงทุนสถาบัน จำนวน 34% และนักลงทุนทั่วไป จำนวน 33%
สำหรับจุดเด่นของกองทุน BRRGIF เป็นการนำเอาโรงไฟฟ้าชีวมวล ประเภทระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration) ของบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BRR มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ต่อแห่ง โดยมีการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดถึง 8 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ในราคา FiT ที่ 4.54 บาท/หน่วย ตามอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่เหลือ 11 ปีและ 18 ปี ตามลำดับ
อีกทั้งยังมีการกำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจากโรงงานน้ำตาลของ BRR (BSF) ที่ 0.25 เมกะวัตต์ และกำหนดปริมาณรับซื้อไอน้ำความดันสูง ขั้นต่ำจาก BSF ที่ 55,488 ตันต่อปี และ 120,768 ตันต่อปีตามลำดับ และปริมาณรับซื้อไอน้ำความดันต่ำ ขั้นต่ำจาก BSF ที่ 189,840 ตันต่อปี
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง หรือจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 6.5% ต่อปีของกำไรสุทธิ และยังได้รับเงินทยอยคืนเงินต้น 4.7% ต่อปีของเงินลงทุน ตามอายุสัญญาการขายไฟฟ้าให้กับกฟภ. ประกอบผู้ถือหน่วยยังได้รับการยกเว้นภาษี 10% ตลอด 10 ปี
อย่างไรก็ตาม BRRGIF จึงถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ จากเงื่อนไขสัญญาต่างๆ เช่น การกำหนดปริมาณรับซื้อไอน้ำขั้นต่ำและราคา การกำหนดชั่วโมงเดินโรงไฟฟ้าขั้นต่ำ เป็นต้น ,ป้องกันความเสี่ยงด้านราคาและปริมาณของวัตถุดิบ ด้วยการทำสัญญาระยะยาว เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบ ,มีความมั่งคงด้านวัตถุดิบ จากการวางแผนที่ครบวงจรของกลุ่ม BRR โดยการทำ Contract Farming กับชาวไร่ ขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ให้ความรู้แก่เกษตรกร รวมถึงสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่เกษตรกร และลดความผันผวนของค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ ด้วยการทำสัญญาค่าใช้จ่ายแบบเหมา เพื่อช่วยลดความผัวผวนของต้นทุนการดำเนินงานและหระแสรายได้ของกองทุนฯ เป็นต้น
นายอนันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ BRR ยังได้รับประโยชน์จากการเสนอขายกองทุนดังกล่าว โดยมีการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งเข้ามาล่วงหน้าจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยบันทึกรายได้เข้ามาประมาณปีละ 445 ล้านบาท จนถึงปี 78 หรือตามอายุสัญญาการขายไฟฟ้าให้กับกฟภ. 18 ปี