BANPU ตั้งงบ 500 ล้านเหรียญฯรองรับเป้ากำลังผลิต shale gas 78 ล้านบีทียู/วันภายในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 20, 2017 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนสำหรับการลงทุนในธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) ราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับเป้าหมายมีกำลังการผลิต shale gas ทั้งสิ้น 78 ล้านบีทียู/วัน ภายในปี 63 จากปัจจุบันที่ใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 207 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังการผลิต shale gas แล้ว 46 ล้านบีทียู/วัน หลังได้เข้าเริ่มลงทุนแหล่ง shale gas ที่สหรัฐฯ แต่ปี 59 ขณะที่กำลังการผลิตระดับปัจจุบันสร้างรายได้ให้บริษัทราว 9 ล้านเหรียญสหรัฐ/ไตรมาส หรือสร้างกำไรให้ราว 3 ล้านเหรียญสหรัฐ/ไตรมาส

"การลงทุนของบ้านปูที่อยู่นอกเอเชีย แปซิฟิก ตอนนี้มีตัวเดียวคือ shale gas ในอเมริกา วันนี้เราลงทุนไปแล้ว 207 ล้านเหรียญฯ ได้กำลังการผลิตก๊าซฯมาแล้ว 46 ล้านบีทียู/วัน เป้าหมายเราจะลงทุนให้ครบ 500 ล้านเหรียญฯ/ภายในปี 2020 จะมีกำลังการผลิต 78 ล้านบีทียู/วัน ถ้าลองเทียบตอนนี้เรามี 46 จาก 78 เกิน 50% ไปแล้ว แต่เราใช้เงินไปแค่ 40% เท่านั้น หมายความว่าประสิทธิภาพของทีมที่ไปขยาย asset ตัวนี้ทำได้ดีกว่าเป้า เราคงจะทำตัวนี้ต่อไป แผนกลยุทธ์ของเรายังเดินไปตามนี้ แต่จะเห็นความ greener smarter มากขึ้น"นางสมฤดี กล่าว

นางสมฤดี ชี้แจงถึงกลยุทธ์ greener ว่าจะเป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหมืองถ่านหินที่มีเทคโนโลยีสะอาด พร้อมกับเพิ่มเติมการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่วน smarter เป็นการตามเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ซึ่งจะสนับสนุนด้วยพื้นฐานการเงิน ,วัฒนธรรมองค์กรและบุคลากรที่มีความแข็งแกร่ง ช่วยเสริมให้บริษัทเติบโตตามแผนนี้ต่อไปได้

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนแผนลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) ใหม่จากเดิมที่ตั้งงบลงทุนสำหรับธุรกิจไฟฟ้าและถ่านหินรวม 554 ล้านเหรียญสหรัฐ และการลงทุนใน shale gas ครั้งแรกในวงเงิน 112 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแผน 5 ปีปัจจุบันก็จะปรับเหลือการลงทุนในช่วงปี 61-63

พร้อมกับจะจัดทำแผน 5 ปีใหม่ (ปี 64-68) ควบคู่กันไปด้วย เพราะแผนการลงทุนบางส่วนมีเป้าหมายที่เลยจากแผน 5 ปีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปแล้ว เช่นในธุรกิจไฟฟ้าที่มีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิต 4,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 ซึ่งคาดว่าการจัดทำแผนลงทุนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย.60

สำหรับแผนกลยุทธ์ก็จะยังล้อไปกับแผนลงทุนใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะประกอบด้วยธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยธุรกิจต้นน้ำ คือ เหมืองถ่านหิน ก็จะเพิ่มเติมปริมาณสำรองถ่านหินด้วยการทำเหมืองให้ลึกขึ้น และหาโอกาสซื้อเหมืองข้างเคียง รวมทั้งหาแหล่ง shale gas เพิ่ม จากปัจจุบันลงทุนแหล่ง shale gas ในสหรัฐฯไปแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ แหล่ง Chaffee Corners ที่เป็นการซื้อครั้งแรก , ส่วนการซื้อครั้งที่ 2-4 อยู่ในแหล่งก๊าซฯด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมลรัฐเพนซิลเวเนีย (Northeast Pennsylvania Corner shale gas portfolio :NEPA)

ส่วนธุรกิจกลางน้ำจะเป็นการนำถ่านหินแต่ละคุณภาพมาผสมเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า ปัจจุบันร่วมกับรัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อขอจัดสรรพื้นที่ท่าเรือบางส่วนทางตอนใต้ของจีนเพื่อใช้เป็นโรงผสมถ่านหิน นอกจากนี้ยังเจรจาติดต่อกับผู้ขายน้ำมันดีเซลในอินโดนีเซียโดยตรงเพื่อนำมาใช้ในเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนของ supply chain management ทำให้ลดต้นทุนน้ำมันลงได้ใกล้ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งธุรกิจกลางน้ำจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท

สำหรับธุรกิจปลายน้ำ เป็นธุรกิจไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีการลงทุนทั้งในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานทดแทน ในลาว,ไทย,จีน และญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,300 เมกะวัตต์ภายในปี 68 ซึ่งในส่วนนี้ราว 20% หรือเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ จะมาจากพลังงานทดแทน จากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 2,636 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วแล้ว 2,069 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะเดินเครื่องผลิตภายในปี 63

"ภูมิภาคที่เราจะเล่นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยังอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ ซึ่งในส่วนของไฟฟ้าที่อยู่ในปลายน้ำนั้น คิดว่าการเติบโตจะอยู่ในกลุ่มเซาท์อีสท์เอเชีย หรือในอาเซียน"นางสมฤดี กล่าว

นางสมฤดี กล่าวว่า ส่วนการเข้าประมูลเพื่อทำโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียนั้น บริษัทคงต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์ใหม่หลังจากที่การเข้าร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้าประมูลทำโรงไฟฟ้าขนาด 2,000 เมกะวัตต์ก่อนหน้านี้ ไม่สามารถสู้คู่แข่งอย่างจีนได้ ทำให้การประมูลรอบต่อไปอาจจะพิจารณาลงทุนโรงไฟฟ้าที่มีขนาดราว 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะยังคงเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทและพันธมิตรเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย น่าจะยังไม่เปิดประมูลกำลังการผลิตใหม่ในระยะเวลาอันสั้นนี้

ส่วนการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศนั้น บริษัทก็พร้อมที่จะพิจารณาการลงทุนโดยต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลที่จะเปิดรับซื้อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติมออกมาก่อน แต่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/60 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ