นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า มองตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/60 น่าจะแกว่ง Sideway Up เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ โดยคาดดัชนีน่าจะขึ้นทดสอบระดับ 1,650 จุด และแนวรับที่ 1,530 จุด จากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวดีขึ้น
ดังนั้น แนะนักลงทุนเข้าลงทุนในหุ้น Laggard หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาปรับตัวขึ้นช้า เช่น กลุ่มการแพทย์ อย่างบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชธานี (BDMS) ,บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ,กลุ่มพลังงาน อย่าง บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ,บมจ.ปตท. (PTT) และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ,บมจ.เอสวีไอ (SVI) เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,700 จุด และ 1,800 จุดในปี 61 บนสมมติฐาน P/E 14.9 เท่า และ 14.3 เท่า ตามลำดับ และการคาดการณ์กำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทย จะเติบโตเฉลี่ย 8-10% หรือ 114 บาท/หุ้น และ 125 บาท/หุ้น ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจบางประเทศอาจจะชะลอตัวลงบ้างในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อย่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ ยังได้รับผลดีจากการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นพระเอกในปีนี้และปีหน้า ,การบริโภคภาคเอกชน อยู่ในระดับที่ทรงตัว และการลงทุนภาครัฐ ที่เริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงคาดว่าภาครัฐ น่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ ก็น่าจะส่งผลให้กำลังซื้อภาคประชาชนกลับมาดีขึ้น ขณะเดียวกันมอง P/E ตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้ดูแพง เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในภูมิภาค
นอกจากนี้ภาพของเงินทุนไหลเข้า (Fund flow) ในครึ่งปีหลังนี้ น่าจะเห็นเม็ดเงินต่างชาติกลับเข้าลงทุนในหุ้นอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี 60 และปีหน้า ด้วยปัจจัยของค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ 35-35.50 บาท/ดอลลาร์ ,เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และต่างชาติยังมีความสนใจในหุ้นไทยอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมองว่า Fund Flow น่าจะไหลออกจากตลาดพันธบัตรบางส่วน หลังจากก่อนหน้านี้มีการซื้อเข้ามามากพอสมควร เป็นผลมาจากการคาดการณ์จะมีการดำเนินนโยบายปรับลดงบดุลของสหรัฐฯในเดือนก.ย.นี้
"เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังจากเติบโตดีมากในไตรมาสแรก โดยเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงในสหรัฐฯ และจีน แต่อย่างไรก็ตามโมเมนตัมการเติบโตที่ชะลอตัวลงในสหรัฐฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มชั่วคราว จากตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่งและสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในระยะหลังนี้ ขณะที่เฟด ก็มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น และปรับลดขนาดงบดุลลง ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้น แม้การฟื้นตัวยังค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มีการปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้มากขึ้น จากการส่งออก การบริโภค และการลงทุนภาครัฐ มีการเติบโตมากขึ้น"นายอิสระ กล่าว