นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งแรกปี 60 พบว่า ตลาดตราสารหนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าคงค้างรวม 11.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จาก 11.02 ล้านล้านบาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว เพิ่มขึ้น 39% หรือเพิ่มขึ้น 1.23 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวรวม 134 บริษัท เพิ่มขึ้น 13 บริษัทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มียอดการออกสูงสุดในครึ่งแรกปีนี้ ได้แก่ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 27% เทียบจากครึ่งแรกปีที่แล้ว
มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น ในภาพรวมยังเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย คิดเป็น 2.6% จากช่วงครึ่งแรกปีที่ผ่านมา แต่หากไม่รวมกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์ และการกู้ยืมภายในกลุ่มธุรกิจ มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นในครึ่งปีแรกลดลง 7% โดยเป็นการลดลงของการออกตราสารในกลุ่มอันดับเครดิตต่ำกว่า BBB+ ส่วนกลุ่มอันดับเครดิต A- ขึ้นไป พบว่ามีการออกเพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะสั้นสูงสุดในครึ่งแรกปีนี้ คือกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่มียอดการออกลดลง 4% เทียบจากครึ่งแรกปีที่แล้ว
ด้านเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมา ไหลเข้าสุทธิ 9.56 หมื่นล้านบาท เป็นการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1.25 แสนล้านบาท แต่ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นรวม 2.93 หมื่นล้านบาท ทำให้ ณ 30 มิ.ย.60 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 7.23 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 6.4% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย
ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ภาคเอกชนในไตรมาส 2/60 นายธาดา กล่าวว่า พบว่ามีเพิ่มขึ้นจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) ซึ่งเลยกำหนดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) มูลค่ารวม 200 ล้านบาท และบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E รอบแรกจำนวน 40 ล้านบาท และอยู่ระหว่างครบกำหนดชำระเพิ่มเติมอีก ส่งผลให้ครึ่งปีแรกการผิดนัดชำระหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระคืนได้คิดเป็น 0.12% หรือ 3.76 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างจะครบกำหนดชำระ (Cross-default และตราสารหนี้คงค้างที่เหลือ) คิดเป็น 0.48% หรือ 1.43 หมื่นล้านบาท ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดที่ 3.2 ล้านล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตามการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชน ถือว่ายังอยู่ระดับต่ำ เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คิดเป็น 2.94% หรือ 4.04 แสนล้านบาท ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด (ณ สิ้นไตรมาส 1/60) ที่ 13.7 ล้านล้านบาท
นายธาดา กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชน น่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวในกลุ่มที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับสูง หรือ A ขึ้นไป ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือตั๋ว B/E น่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากมีเครดิตเรตติ้งที่ต่ำ และนักลงทุนมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยสมาคมฯยังคงเป้าหมายทั้งปี 60 การออกตราสารหนี้ภาคเอกชน จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6 แสนล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีการออกตราสารหนี้อยู่ที่ระดับ 4.4 แสนล้านบาท
ขณะที่มองทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังคงทรงตัวตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ที่คาดว่าจะคงที่ในระดับ 1.5%ไปจนถึงปลายปีนี้ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี มีโอกาสที่จะผันผวนสูงในทิศทางขาขึ้นจากนโยบายการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นมีสัญญาณที่ดี ความกังวลต่อผลการเลือกตั้งในยุโรป และกระบวนการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปของอังกฤษ มีความผ่อนคลายลง แต่การปรับตัวขึ้นอาจไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจและนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก
ด้านเศรษฐกิจประเทศไทย คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้จะเติบโตได้ราว 3.5% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่ทยอยดำเนินการช่วงครึ่งปีหลังนี้ ,การท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ,การส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้น และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนตึงตัว ,NPL ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว
นายธาดา กล่าวอีกว่า สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังคงรอดูปัจจัยในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ในช่วงเดือนก.ย. นี้ และการดำเนินการปรับลดงบดุลของเฟด ในช่วงปลายปีนี้ หากนโยบายเกิดขึ้นจริง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ