บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดผลประกอบการครึ่งหลังปีนี้ต่ำกว่าครึ่งปีแรก หลังแนวโน้มมาร์จิ้นธุรกิจปิโตรเคมีอ่อนตัวลงจากกำลังผลิตใหม่ที่เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมลดเป้าหมายยอดขายปีนี้เหลือโตแค่ 3-5% จากเดิมคาดโต 5-10% ตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและตลาดซีเมนต์ในภูมิภาคไม่ดีเท่าที่คาด อีกทั้งยังมีการแข่งขันในธุรกิจซีเมนต์ที่สูงด้วย ขณะที่เตรียมเดินหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม มูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะสรุปแผนเงินกู้โครงการ (Project Finance) ในสิ้นปีนี้ ยืนยันการลงทุนจำนวนมากดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผลของบริษัท
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า ยอดขายของบริษัทในปีนี้คงจะเติบโตได้เพียง 3-5% จาก 4.23 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตจากการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังการเข้าซื้อธุรกิจซีเมนต์ในเวียดนาม แต่เป้าหมายการเติบโตยอดขายในปีนี้ต่ำกว่าประมาณการเมื่อช่วงต้นปีว่ายอดขายปีนี้จะโต 5-10% จากปีก่อน เพราะราคาปิโตรเคมีมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน แต่เมื่อทิศทางราคาน้ำมันยังอยู่ระดับต่ำก็ทำให้ราคาปิโตรเคมี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทอ่อนตัวลงด้วย รวมถึงตลาดซีเมนต์ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและไม่ได้เติบโตดีอย่างที่คาดการณ์
“ผลประกอบการครึ่งปีแรกมีอานิสงส์หนักมากๆ ของไตรมาสแรก ครึ่งปีหลังก็ไม่น่าจะ match ได้เท่ากับครึ่งปีแรก จากปัจจัยของตลาดที่น่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากมี capacity ใหม่ที่เข้ามา ยอดขายทั้งปีนี้โตระดับ 3-5% น่าจะเป็นไปได้ เพราะครึ่งปีแรกเราก็โตได้แล้ว 3% ครึ่งปีหลังเรามีซีเมนต์เวียดนามที่เราไปซื้อมา อันนี้ก็จะมี plus บวกเข้ามา เคมีภัณฑ์เดาไม่ถูกจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องดูปัจจัยฟ้าฝน ถ้าฝนตกมากๆขนาดนี้ ซีเมนต์วัสดุก่อสร้างก็คงจะกระทบพอสมควร"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
อนึ่ง SCC มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่ระดับ 3.06 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้กำไรในไตรมาส 2/60 จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน แต่ได้รับอานิสงส์จากไตรมาส 1/60 ที่ทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 1.74 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจปิโตรเคมีที่ดีมาก จากส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ของผลพลอยได้ (by product) ที่สูงขึ้นเกือบเท่าสเปรดผลิตภัณฑ์หลัก ก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 2/60 อีกทั้งในไตรมาสแรกยังมีกำไรจากการขายหุ้นบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เข้ามาด้วย
สำหรับแนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นายรุ่งโรจน์ คาดว่ามาร์จิ้นน่าจะอ่อนตัวลงจากครึ่งปีแรกที่ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากไตรมาสแรก ขณะที่ตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมองว่าความต้องการสินค้าเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคยังมีภาพเป็นบวกอยู่ แต่กำลังผลิตใหม่จากสหรัฐที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเป็นปัจจัยกดดัน แต่หากเข้ามาในช่วงปลายปีก็น่าจะยังไม่เห็นผลมากนักในปีนี้ และยังต้องจับตาทิศทางของราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบคือแนฟทา หากราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับนี้จะทำให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบไม่เปลี่ยนแปลงมากนักก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจ
ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในไทยและภูมิภาคอาเซียน ยังคงซบเซามากกว่าที่คาดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้จะหวังว่าตลาดอาจจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็ไม่คิดว่าจะดีขึ้นมาก ทำให้ยังไม่แน่ใจว่าตลาดจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ เบื้องต้นคาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้จะหดตัวราว 2 ล้านตันจากประมาณ 39 ล้านตันในปีก่อน หลังในช่วงครึ่งแรกปีนี้หดตัวลงถึง 7%
ทั้งนี้ ตลาดซีเมนต์ในภูมิภาค ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตช้ากว่าเดิมในประเทศหลัก ๆ ทั้งกัมพูชา ,เวียดนาม ,เมียนมา ส่วนหนึ่งมาจากพายุ และปริมาณฝนที่มาก ขณะที่ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าไปเริ่มดำเนินการหลังจากที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน เช่น กัมพูชา ,เมียนมา เป็นต้น
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมคาดการณ์ว่าจะใช้ราว 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการในช่วงต้นปีที่คาดว่าจะสรุปการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ได้ในช่วงนั้น แต่เมื่อมีความล่าช้าออกไปทำให้ปรับลดเงินลงทุนในปีนี้
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ที่มีมูลค่าลงทุน 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น และแม้กลุ่ม SCC จะถือหุ้นในโครงการดังกล่าวในสัดส่วนมากถึง 71% แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผล เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่ประมาณ 60% จะมาจากเงินกู้โครงการ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังมีความสามารถในการสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 8 หมื่นล้านบาท/ปี ขณะที่คาดว่าโครงการดังกล่าวจะให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 13-14%
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะสรุปแผนการกู้เงินได้ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นเงินกู้สกุลต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่มีระยะเวลานาน โดยแหล่งเงินที่ใช้ในการพิจารณาจะมาจากธนาคารเพื่อสนับสนุนการส่งออกของประเทศต่าง ๆ และธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงศึกษาแหล่งเงินอื่นๆที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมด้วย
ส่วนความคืบหน้าการศึกษาโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 ในอินโดนีเซียนั้น คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ใน 1 ปีจากนี้ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอยู่ในนามของบริษัทร่วมทุน ภายใต้ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์ และโพลีโอเลฟินส์ ในอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 30%