โบรกฯเชียร์"ซื้อ"BCP แม้คาดกำไร Q2/60 หดตัว แต่เชื่อ H2 ฟื้นตามค่าการกลั่น-ไฟฟ้าหนุน,ปันผลสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 27, 2017 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.บางจาก คอร์ปอร์เรชั่น (BCP) จากแนวโน้มค่าการกลั่นมีทิศทางที่ดีขึ้น และการรับรู้ผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจไฟฟ้าจากการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ ในอินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะ COD เพิ่ม จะช่วยหนุนผลการการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ หลังจากที่แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 จะหดตัวลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและในไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน (stock loss) ตามราคาน้ำมันที่ลดลง และค่าการกลั่นที่ชะลอตัวตามอุตสาหกรรม รวมถึงการหยุดซ่อมบำรุงหน่วย Hydrocracking ยังกดดันต่อมาร์จิ้นด้วย

ส่วนการจะควบรวมธุรกิจชีวภาพกับกลุ่ม บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) นั้นยังมีมุมมองเป็นกลาง เนื่องจากยังไม่เห็นการ Synergy อย่างชัดเจนของทั้งสองบริษัทในระยะสั้น แต่การที่ BCP ยังคงเทรดในระดับ P/E ที่ต่ำกว่ากลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และ P/BV ที่ถูก รวมถึงมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ในระดับที่สูง ทำให้น่าสนใจต่อการลงทุน

ล่าสุด ช่วงบ่ายราคาหุ้น BCP อยู่ที่ 34.75 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.03%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ                ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟินันเซีย ไซรัส                  ซื้อ                         40
          เอเอสแอล                     ซื้อ                         39
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ               ซื้อ                         40
          โนมูระ พัฒนสิน                  ซื้อ                         39
          เอเชีย เวลท์                   ซื้อ                         40

นางสาวจิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ BCP ในไตรมาส 2/60 คาดว่ากำไรจะหดตัวกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่อ่อนแอตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ทำให้มีผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน เมื่อเทียบกับที่มีกำไรจากสต็อกน้ำมันในไตรมาสแรก และช่วงเดียวกันของปีก่อน

อีกทั้งค่าการกลั่น (GRM) ยังชะลอตัวลงตามอุตสาหกรรม ขณะที่ BCP ยังถูกกดดันเพิ่มขึ้นจากการหยุดเดินเครื่องหน่วยผลิตไฮโดรเจน (Hydrogen Production Unit) และหน่วยแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจน (Hydrocracking Unit) เป็นเวลา 26 วัน แม้จะไม่ส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังการกลั่น แต่ก็จะทำให้ได้น้ำมันเตาที่มีมาร์จิ้นต่ำในสัดส่วนสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรอาจจะแผ่วลงมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการโรงกลั่นอุตสาหกรรมรายอื่น

แต่แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะดีขึ้นจากค่าการกลั่นที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และการที่โรงไฟฟ้าจะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้น รวมถึงรับรู้ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มจากการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ซึ่งจะผลักดันให้กำไรปกติของ BCP ปีนี้อยู่ที่ราว 5.4-5.5 พันล้านบาทสูงขึ้นจากปีก่อน

ส่วนการจะควบรวมธุรกิจชีวภาพกับกลุ่ม KSL นั้น ยังคงมีมุมมองที่เป็นกลาง แม้จะทำให้กลายเป็นผู้ผลิตธุรกิจเอทานอล และไบโอดีเซลรายใหญ่สุดของประเทศ ด้วยกำลังผลิตรวม 1.71 ล้านลิตร/วันก็ตาม แต่เนื่องจากในระยะสั้นยังไม่เห็นการ Synergy ระหว่างกัน เพราะโรงงานของทั้งสองกลุ่มอยู่คนละพื้นที่และใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน จึงยังต้องจับตาในระยะยาวช่วงไตรมาส 4/61 ที่อาจจะนำบริษัทที่เกิดจากการควบรวมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ก็อาจจะทำให้ทั้งสองกลุ่มได้รับประโยชน์

นางสาวจิตรา กล่าวอีกว่า หุ้น BCP ยังมีความน่าสนใจจากการซื้อขายที่อยู่ในระดับ P/E ต่ำเพียงกว่า 8 เท่า เมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นที่เทรดอยู่ในระดับ 9-10 เท่า อีกทั้งยังมี P/BV ถูก และมีอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับ 5% ด้วย

"แนวโน้มครึ่งหลังของปีนี้ยังดี เราเชื่อว่าค่าการกลั่นค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ไม่ได้ดีมาก แต่การมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเริ่ม COD ในเดือนกรกฎาคมก็จะช่วยให้กำไรปีนี้เติบโตได้ อีกทั้งหุ้นยังมี P/E ต่ำ และ P/BV ถูก และยังมีอัตราจ่ายปันผลในระดับสูง 5%"นางสาวจิตรา กล่าว

ด้านนายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ค่าการกลั่นที่ยืนอยู่ระดับ 7.44 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในขณะนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ BCP นอกเหนือจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาหุ้น BCP ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้น ทำให้เรายังคงคำแนะนำ"ซื้อ"หุ้น BCP

โดยบทวิเคราะห์ของเอเชีย เวลท์ ระบุว่า ธุรกิจโรงกลั่นได้รับผลบวกจากค่าการกลั่นรีบาวด์กลับตั้งแต่เดือน พ.ค.60 ทำให้คาดว่า BCP จะสามารถรักษาฐานกำไรสุทธิได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจยังกระจายตัวดี มีทั้งโรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน ค้าปลีก และโรงไฟฟ้า

รวมถึง BCP ยังเข้าลงทุน 16.4% ใน Lithium Americas Corp. (LAC) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในเหมืองลิเทียมที่ประเทศอาร์เจนตินาและประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ราคาลิเทียมปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ เนื่องจากถูกนำไปใช้สำหรับการผลิตแบตเตอรี่สำรองเก็บไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ BCP ถือหุ้น 70.30% ใน บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นตามสัญญารวม 324 เมกะวัตต์ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิปี 60 และปี 61 เท่ากับ 16% และ 7% ตามลำดับ

ทั้งนี้ คาดว่า BCP จะจ่ายปันผลปีละ 1.80 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 5.3% ต่อปี โดยคาดว่า BCP จะประกาศปันผลระหว่างกาลในเดือน ส.ค. เท่ากับ 0.80-1.0 บาท/หุ้น คิดเป็นผบตอบแทนรอบนี้ 2.3%-2.9% ปัจจุบัน PER ยังต่ำเพียง 8.4 เท่า PEG เท่ากับ 0.52 เท่ายังนับว่ามีราคาต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสม

ขณะที่ บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของ BCP ในไตรมาส 2/60 จะมีกำไรสุทธิ 998 ล้านบาท ลดลง 52% จากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันราว 809 ล้านบาท ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง แม้จะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนแต่ไม่เพียงพอชดเชยผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันได้ ส่วนแนวโน้มของกำไรปกติยังถูกดดันจากค่าการกลั่นที่ลดลงตามทิศทางอุตสาหกรรม แม้จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาสนี้ก็ตาม ขณะที่ธุรกิจการตลาดยังมีค่าการตลาดทรงตัว แต่ยอดขายเฉลี่ยลดลงตามฤดูกาล

ด้านธุรกิจไฟฟ้าได้รับปัจจัยบวกจากการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการพลังงานลมในฟิลิปปินส์ 36 เมกะวัตต์ เพียงพอชดเชยกำลังผลิตไฟฟ้าจากในประเทศที่ลดลง และธุรกิจไบโอดีเซล ได้ประโยชน์จากการที่ภาครัฐประกาศให้กับมาใช้ B7 เมื่อต้นเดือน พ.ค. แม้เป็นปัจจัยสนับสนุนยอดขาย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงรับรู้ผลขาดทุนจากสต็อกเช่นกัน

ทั้งปี 60 คาดว่า BCP จะมีกำไรปกติเพิ่มขึ้น 64% มาที่ 5.8 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังกลั่นรวมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 59 หยุดซ่อมหน่วยกลั่นน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 1/59 ขณะที่ค่าการกลั่นพื้นฐานจะอยู่ที่ 6.75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจตลาด คาดว่าจะมีค่าการตลาดอยู่ที่ 0.8 บาท/ลิตร และ BCP ได้วางเป้าหมายยอดขายต่อเดือนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ BCP ยังคาดว่าจะมียอดขายของธุรกิจไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และกำลังผลิตไฟฟ้าของธุรกิจผลิตไฟฟ้า ส่วนธุรกิจ Non-Oil จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการเพิ่ม

เอเอสแอล ยังประเมินการจ่ายเงินปันผลของ BCP ในงวดปีนี้ไม่น้อยกว่า 2 บาท/หุ้น ให้ผลตอบแทน 5.8% โดย BCP จ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง ทำให้คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.75 บาท/หุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ