นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะมีผลบังคับใช้กับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ พร้อมทั้งประกาศปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีผลบังคับใช้กับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 60 เป็นต้นไปนั้น เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิตลดลง 10% จากการลดอัตราเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 18% ต่อปี จากเดิมที่ 20% ต่อปี
โดยมองว่าผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวสอดคล้องเข้ากับเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา และหากลยุทธ์ใหม่ออกมาเพื่อชดเชยรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิตที่หายไป แต่เชื่อว่าในอุตสาหกรรมยังคงมีการแข่งขันกันเหมือนเดิม ซึ่งขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะดำเนินกลยุทธ์อย่างไรที่จะสามารถหารายได้เข้ามาชดเชยรายได้จากดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่หายไป
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ที่ออกมาควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังมีข้อดีที่จะทำให้พฤติกรรมการของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของประชาชนเป็นไปอย่างเหมาะสมกับรายได้ของแต่ละคน และช่วยให้หนี้สินของประชาชนมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ลดลง หรือมีหนี้สินลดลง ประกอบกับยังเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น ขณะที่แนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ (NPL) ของระบบคาดว่ามีโอกาสเห็นการทยอยปรับตัวลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา
ทั้งนี้ มองว่าการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบันไม่ได้เป็นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นการใช้จ่ายในหมวดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดย 5 อันดับแรกที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด ได้แก่ ประกันชีวิต, ท่องเที่ยว, ตกแต่งบ้าน, ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล อีกทั้งการเติบโตของจำนวนบัตรเครดิตในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเพียง 5-6% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่มองว่าไม่มากจนเกินไป โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 20.1 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้าง 3.6 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบอยู่ที่ 12.2 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.33 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทคิดเป็น 6% ของหนี้ครัวเรือน ซึ่งไตรมาส 1/60 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 78.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)