ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ"ทรูมูฟเอชฯ"ที่ BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 27, 2017 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ “BBB+" อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 2 ของประเทศ

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) (ได้รับอันดับเครดิต “BBB+/Stable") โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการดำเนินงานและความช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างต่อเนื่องจาก TRUE อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง

บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ก่อตั้งในปี 2553 โดยมี TRUE เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด TRUE ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบผสมผสานโดยให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก

อันดับเครดิตของบริษัทมีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ TRUE เป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และสัดส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อกลุ่ม TRUE กล่าวคือ บริษัทสร้างรายได้ในปี 2559 คิดเป็นสัดส่วน 74% ของรายได้รวมของ TRUE และสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วน 81% ของ EBITDA รวมของ TRUE

นอกจากนี้ TRUE ยังเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานของบริษัททั้งในเรื่องการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในรูปแบบการเพิ่มทุนมูลค่ารวมประมาณ 85,000 ล้านบาทในช่วงปี 2554-2557 และในเดือนมิถุนายน 2559 TRUE ยังได้เพิ่มทุนอีกจำนวน 60,000 ล้านบาทให้แก่บริษัทเพื่อสนับสนุนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ทซ์ ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจาก TRUE ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทและเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท

บริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ทซ์ ภายใต้สัญญาขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) และให้บริการบนคลื่นความถี่ภายใต้ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งรวมถึงคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ทซ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งทางการตลาด บริษัทได้ประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ทซ์ภายใต้ใบอนุญาต 18 ปีและคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ทซ์ภายใต้ใบอนุญาต 15 ปี การมีจำนวนคลื่นความถี่สำหรับให้บริการมากที่สุดทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่มีอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการบริการด้านข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

สถานะทางธุรกิจของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้รวมจากการให้บริการของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เพื่อที่จะสร้างรายได้จากการลงทุนจำนวนมาก คุณภาพของสัญญาณเป็นปัจจัยที่บริษัทให้ความสำคัญมากเพื่อที่จะดึงดูดผู้ใช้บริการรายใหม่และลดอัตราการยกเลิกการใช้บริการของลูกค้า โดยเห็นได้จากการที่บริษัทมีการลงทุนด้านโครงข่ายในอัตราสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หลังจากการลงทุนจำนวนมหาศาลก็เริ่มส่งผลให้ฐานะการแข่งขันของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกลยุทธ์การเป็นผู้ให้บริการผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ 3G (Third Generation) และ 4G LTE (Long Term Evolution) เป็นรายแรก ในช่วงปี 2555-2559 รายได้ของบริษัทจากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตในอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีรายได้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโตเฉลี่ย 16.4% ต่อปี เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่อัตรา 5.9% ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2560 บริษัทได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 2 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นประมาณ 25.8% บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 33% ของรายได้รวมจากการให้บริการภายในสิ้นปี 2561

เป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทมีความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ในสถานการณ์ที่ภาวะตลาดใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ผู้ประกอบการต้องลงทุนขยายโครงข่ายและการตลาดที่รุนแรงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการจากคู่แข่งและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเอาไว้ ความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นผลักดันให้ผู้ประกอบการต่างมุ่งเน้นการให้บริการด้านข้อมูล แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงแต่แนวโน้มความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลของผู้บริโภคยังส่งผลดีต่ออุตสาหรรมโดยรวม

สถานะการเงินของบริษัทได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนค่าใบอนุญาตและการลงทุนขยายโครงข่ายที่สูงในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง ในปี 2559 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 13.6% มาอยู่ที่ 9.39 หมื่นล้านบาท และ 18.5% ในไตรมาสแรกของปี 2560 มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 23.8% ในไตรมาสแรกของปี 2560 จากการที่บริษัทเริ่มได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดจากการที่มีจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่สุทธิจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อ EBITDA อยู่ที่ 7.9 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่สุทธิจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 11.3% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)

บริษัทยังคงมีแผนลงทุนด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่องในปี 2560 โดยบริษัทได้ตั้งงบไว้ทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แผนการลงทุนระดับสูงดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท หากบริษัทจะยังคงมีแนวโน้มที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทริสเรทติ้งประเมินว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ย 10%-20% ต่อปีในช่วงปี 2560-2562 และรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับ 1-1.08 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราส่วนกำไรของบริษัท (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 20%-25% ต่อปี และคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 1.3-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2560-2561 ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีความระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพื่อจะช่วยให้ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทดีขึ้น อีกทั้งบริษัทจะมีโครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้นโดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่สุทธิจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อ EBITDA อยู่ที่ 5-8 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 9%-14% ในช่วงเดียวกัน

ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจำเป็นต้องอาศัยการก่อหนี้เพิ่มเติมในระยะ 12 เดือนข้างหน้าโดยนับจากวันที่ 31 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 7.5 พันล้านบาท มีค่าใบอนุญาตที่จะครบกำหนดชำระ 9.9 พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอีกประมาณ 2.9-3.1 หมื่นล้านบาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 อีกประมาณ 2.99 หมื่นล้านบาท บริษัทจะต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ทั้งนี้ การขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำตลาดในการให้บริการด้านข้อมูลเอาไว้ได้และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งจะยังคงสถานะการเป็นธุรกิจหลักของ TRUE ต่อไป การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดกับอันดับเครดิตของ TRUE จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย

ทั้งนี้ โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ความเสี่ยงที่บริษัทจะถูกปรับลดอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทไม่สามารถสร้างรายได้จากการลงทุนซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงจากที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้อย่างมากห

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงดำรงอยู่และจะยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้ โอกาสที่จะเห็นผลสิ้นสุดทางกฎหมายของข้อพิพาทที่ออกมาในทางลบในระยะอันใกล้นี้จึงยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลทางกฎหมายส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ