นายเจอเรมี คิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บลจ.สยามไนท์ฟันด์แมเนจเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนตราสารทุนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เน้นลงทุนในกลุ่มอาเซียนและภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมไปถึงจีนและฮ่องกง เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดขายกองทุนเปิด เอสเคเอฟเอ็ม แม่โขง ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SMF-A และ SMF-I) ซึ่งเป็นประเภทกองทุนรวมตราสารแห่งทุน ดัชนีเทียบวัด (Benchmark) SET Total Return Index และ FTSE Vietnam มีจำนวนเงินทุนของโครงการ 1,000 ล้านบาท โดยจะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 21-29 ส.ค.60
กองทุนเปิด เอสเคเอฟเอ็ม แม่โขง ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SMF-A และ SMF-I) จะลงทุนในตราสารแห่งทุนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการลงทุนในตราสารทุนของกลุ่มบริษัทในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region “GMS" ประกอบด้วยประเทศไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และเมียนมาร์)
รวมถึงลงทุนตราสารแห่งทุนของกลุ่มบริษัทในประเทศอนุภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นอกภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น และอาจลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่ลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ (Net exposure) ในตราสารทุนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพยสินสุทธิเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ซึ่งกองทุนมีความเสี่ยงสูงในระดับ 6 และไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
การลงทุนกองทุนจะคัดเลือกหุ้นโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐานด้วยวิธี “Bottom up" ตามนโยบายการลงทุนในประเทศและอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ โดยมีสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเทศไว้เบื้องต้น ดังนี้ ประเทศไทย 50% เวียดนาม 20% เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และจีนยูนนาน รวมกัน 30% ตั้งเป้าหมายผลการดำเนินงานเป็น 2 เท่าของการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ย หรือ +10% ต่อปี
สำหรับกองทุนเปิด เอสเคเอฟเอ็ม แม่โขง ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SMF-A และ SMF-I) มี 2 class คือ SMF-A เสนอขายผู้ลงทุนทั่วไปมูลค่าการสั่งซื้อขั้นต่ำครั้งแรกอยู่ที่ 500,000 บาท และ SMF-I เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันมูลค่าการสั่งซื้อขั้นต่ำ 10,000,000 บาท ผ่านกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจในการเป็นช่องทางในการจัดจำหน่าย ได้แก่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนเว็ลธ์ เมจิก จำกัด บล.เคทีบี (ประเทศไทย) บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) และ บล.โกลเบล็ก
นายคิง กล่าวว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม มีการเติบโตของจีดีพีสูงถึง 7-8% ต่อปี (เป็น 4 ประเทศจาก 10 อันดับแรกของประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2560 อ้างอิงจากนิตยสาร The Economist) และด้วยประชากรในภูมิภาคกว่า 300 ล้านคน รวมทั้งโครงสร้างประชากรที่มีอายุน้อยจะสร้างความเชื่อมั่นว่าการเติบโตจะยังคงต่อเนื่องไปอีกหลายทศวรรษ
ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งมีกรุงเทพมหานครที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการบริการของภูมิภาค ในด้านการท่องเที่ยว การจับจ่าย การแพทย์ การศึกษา สำนักงานใหญ่ของธุรกิจข้ามชาติและด้านตลาดทุน และไทยยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ One Belt, One Road ของจีน เช่นเดียวกับประเทศใน GMS รวมทั้งระดับหนี้ของรัฐบาลของไทยและ GMS นั้น อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงมีความสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากจำเป็น
“การเติบโตของภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเติบโตภายในประเทศของจีน แต่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเมืองในชนบทของประเทศจีน โดยมูลค่าการค้าภายในกลุ่มอาเซียนและ GMS คิดเป็น 25% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง แต่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจต่างๆ ยังคงเข้าไปในกลุ่มประเทศนี้ไม่มากนัก ซึ่งในอนาคตน่าจะเพิ่มมากขึ้น"นายคิง กล่าว
สรุปได้ว่า GMS เป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสที่เกิดขึ้นจากลักษณะภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง ที่เสริมกันและกัน รวมไปถึงความเชื่อมโยงของประเทศสมาชิกด้วยกันเองและกับภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งความมั่งคั่งของภูมิภาคยังมีโอกาสขยายได้อีกผ่านความเชื่อมโยงทางการเงินที่ได้รับการยกระดับทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม