ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม UMI ที่ “BB+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 31, 2017 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม (UMI) ที่ระดับ “BB+"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่น่าพอใจซึ่งเป็นผลจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับปานกลาง ตลอดจนการมีตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับ และการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีปัจจัยลดทอนจากความต้องการกระเบื้องภายในประเทศที่ลดลงและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากกระเบื้องนำเข้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อความผันผวนของราคาพลังงานซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

UMI เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิคในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2516 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2532 ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือครอบครัวตระกูลเพ็ญชาติ (สัดส่วน 21.17%) และตระกูลเหล่าวิวัฒน์วงศ์ (สัดส่วน 20.86%) บริษัทจำหน่ายสินค้ากระเบื้องปูพื้นและผนัง เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความหลากหลายของสินค้า

บริษัทได้ซื้อกิจการของ บมจ.โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม (RCI) และ บมจ.ที.ที. เซรามิค ในปี 2555 ทั้งนี้ RCI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิคสำหรับปูพื้นและผนัง ในขณะที่บริษัท ที.ที. เซรามิคผลิตและจำหน่ายกระเบื้องพอร์ซเลน

อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายหลังการซื้อกิจการดังกล่าว กล่าวคือ อุปสงค์ของกระเบื้องปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต่อมาบริษัทต้องขายหุ้นของ RCI ออกไปแต่ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ที.ที. เซรามิคเอาไว้ บริษัท ที.ที. เซรามิคผลิตและจำหน่ายกระเบื้องพอร์ซเลนภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เซอเกรส" และผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนให้บริษัทจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ดูราเกรส" ด้วย ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นของบริษัท ที.ที. เซรามิคในสัดส่วน 66.7%

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่น่าพอใจของบริษัท สินค้าของบริษัทประกอบไปด้วยกระเบื้อง “ดูราเกรส" และ “เซอเกรส" ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาด บริษัทจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปีโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง ยอดขายของบริษัทเกือบทั้งหมดมาจากตลาดภายในประเทศซึ่งบริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านทางผู้ค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้านชั้นนำต่าง ๆ เป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความต้องการกระเบื้องภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงมีแผนการที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

หากพิจารณาจากกำลังการผลิตแล้ว บริษัทถือว่าเป็นผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศรองจากกลุ่ม บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี และ บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) กลุ่มเอสซีจีถือเป็นผู้นำตลาดที่มีตราสัญลักษณ์สินค้าที่มีชื่อเสียงและเน้นลูกค้าในตลาดกลางถึงระดับสูงซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกับของบริษัท ในขณะที่ DCC นั้นมีความแข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าระดับล่าง

ในปี 2559 ปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 18.1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ในบรรดาผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่ทั้ง 3 ราย บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 10% ตามหลังกลุ่มเอสซีจีที่มีส่วนแบ่ง 48% และดีซีซีที่ 25%

ในปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 2,793 ล้านบาท ลดลง 25.5% จากปีก่อนจากเหตุผลหลักประการหนึ่งคือในปี 2559 บริษัทไม่ได้รวมรายได้ของ RCI เนื่องจากบริษัทเริ่มขายหุ้นบางส่วนของบริษัทดังกล่าวออกไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 และขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2559 ปริมาณยอดขายกระเบื้องของบริษัทอยู่ที่ 18.1 ล้าน ตร.ม. หรือลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมากกว่ายอดขายในอุตสาหกรรมที่ลดลง 6.4% ความต้องการที่ลดลงเกิดจากการก่อสร้างที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ 67% ในปี 2559 อย่างไรก็ดี บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 24% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้และสูงกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ระหว่าง 17%-19% อันเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างมาก

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการที่ชะลอตัวลงของตลาดกระเบื้องภายในประเทศซึ่งปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่มีความผันผวนมากกว่าด้วย ความต้องการกระเบื้องมีความผันผวนมากขึ้นเนื่องจากความต้องการบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับภาคการก่อสร้างใหม่ ๆ (โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย) ซึ่งมีความผันผวนมากกว่าภาคการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ความต้องการกระเบื้องปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยจำนวนยอดขายกระเบื้องภายในประเทศในปี 2559 ลดลงจากปีก่อน 6.4% มาอยู่ที่ 157 ล้าน ตร.ม. และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 ทั้งที่เป็นช่วงที่มีความต้องการสูงสุดของปี โดยยอดขายลดลงประมาณ 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนมาอยู่ที่ 41 ล้าน ตร.ม.

การแข่งขันจากกระเบื้องนำเข้าโดยเฉพาะกระเบื้องพอร์ซเลนชนิดไม่ขัดเงานั้นมีสูงขึ้นในปัจจุบันซึ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่อุปสงค์ลดลง การแข่งขันมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ผลิตจีนสามารถผลิตกระเบื้องได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทำให้สามารถนำเข้ามาขายในประเทศได้มากขึ้น ถึงแม้ว่ากระเบื้องที่นำเข้าจากจีนจะมีค่าขนส่งรวมอยู่ด้วย แต่ราคากระเบื้องดังกล่าวก็ยังสามารถแข่งขันได้กับกระเบื้องภายในประเทศ ในปี 2559 จำนวนกระเบื้องนำเข้าลดลงมาอยู่ที่ 52 ล้าน ตร.ม. หรือลดลง 3.8% ในขณะที่อุปสงค์ของตลาดโดยรวมลดลง 6.4% เนื่องจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยจะเห็นได้จากการแข่งขันด้านราคาการนำเข้ากระเบื้องพอร์ซเลนจากประเทศจีนที่มีมากขึ้น บริษัทจึงเริ่มนำเข้ากระเบื้องจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อเพิ่มชนิดสินค้าของตนเอง

บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) สูงขึ้นมากโดยอยู่ที่ 11% ในปี 2559 จาก 4.9% ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการลงทุนในบริษัท ที.ที. เซรามิคยังคงทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลง บริษัทยังคงรับรู้การด้อยค่าของสินทรัพย์ของบริษัท ที.ที. เซรามิคจำนวน 31 ล้านบาทในปี 2559 หลังจากที่มีการบันทึกรายการดังกล่าวแล้วในปีก่อนหน้าประมาณ 110 ล้านบาท อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัท ที.ที. เซรามิคยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 70% ในปี 2559 แต่มียอดขายลดลงเพียง 2.3% ซึ่งลดลงต่ำกว่าการลดลงของตลาดโดยรวม ส่งผลให้บริษัทรายงานกำไรสุทธิจำนวน 108 ล้านบาทในปี 2559 เทียบกับผลขาดทุนสุทธิถึง 190 ล้านบาทในปี 2558

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมีรายได้ 675 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังคงลดลงช่วยทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 9.8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังระหว่างปี 2557-2559 ที่ 7% ทริสเรทติ้งมองว่าการที่บริษัทมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอันดับเครดิต โดยบริษัทมีความเสี่ยงจากการขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งปรับตัวตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีการปรับตัวดีขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 บริษัทมีเงินกู้รวมเท่ากับ 1,446 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยหุ้นกู้ของบริษัทจำนวน 589 ล้านบาทและเงินกู้จากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ที.ที. เซรามิคจำนวน 797 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 45% ในเดือนมีนาคม 2560 จากระดับสูงสุดที่ 52.6% ในปี 2556 โครงสร้างทางการเงินมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของกำลังการผลิต

ในอนาคตทริสเรทติ้งมองว่าแนวโน้มของตลาดกระเบื้องจะยังคงชะลอตัวซึ่งสืบเนื่องมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอเป็นสำคัญ อุปทานของกระเบื้องจะยังคงสูงเกินกว่าอุปสงค์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ราคาขายจะยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากยังคงมีแรงกดดันจากระดับอุปทานที่สูงและการแข่งขันจากกระเบื้องนำเข้า ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 2.7-2.8 พันล้านบาทในปี 2560-2562 ความสามารถในการทำกำไรจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างมาก การขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติจะกระทบกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะต่ำกว่า 40% จากการซื้อคืนหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องและจากการไม่มีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนขนาดใหญ่ เงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 15%-21% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่ารายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะสอดคล้องกับประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจเป็นผลจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นและการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายที่ระมัดระวัง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ