ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร“ไทย คอนซูมเมอร์ ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์" ที่ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 2, 2017 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทย คอนซูมเมอร์ ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ระดับ “BBB-" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงที่บริษัทได้รับจากธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวกับผู้เช่าที่มีความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสินทรัพย์ให้เช่าที่มีขนาดเล็กและความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของที่ตั้งคลังสินค้า การจัดอันดับเครดิตยังคงคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บมจ. อควาคอร์เปอเรชั่น (AQUA) (ได้รับอันดับเครดิต “BBB-/Stable" จากทริสเรทติ้ง)

นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของ AQUA ซึ่งถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 96.13% เป็นไปตามวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating) ของทริสเรทติ้งอีกด้วย

บริษัท ไทย คอนซูมเมอร์ ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ ดำเนินธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทยบริษัทก่อตั้งในปี 2541 โดย บริษัท แปซิฟิก อินเวสเมนท์ จำกัด ในปี 2557 บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยซื้อหุ้น 69% ในบริษัทและได้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 96.1% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทตั้งแต่ปี 2558 ในปีเดียวกันบริษัทได้ขยายพื้นที่ให้เช่าโดยการซื้อกิจการทั้งหมดของ บริษัท แอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง จำกัด ด้วยมูลค่าการลงทุน 165 ล้านบาท

พอร์ตคลังสินค้าของบริษัทค่อนข้างเล็กซึ่งประกอบไปด้วยคลังสินค้าจำนวน 4 แห่งที่มีพื้นที่ให้เช่ารวมทั้งสิ้น 122,747 ตารางเมตร (ตร.ม.) คลังสินค้าของบริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดอยุธยา บริษัทให้เช่าคลังสินค้า 2 แห่งของบริษัทด้วยพื้นที่รวมทั้งสิ้น 108,902 ตร.ม. หรือคิดเป็น 90% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดแก่กลุ่มยูนิลีเวอร์ซึ่งเป็นผู้นำด้านสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก ส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้นบริษัทได้ให้เช่าแก่ผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ที่มีชื่อเสียง 2 ราย คือ บริษัท อจิลิตี้ จำกัด และ บริษัท ซีวา ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

อันดับเครดิตของบริษัทได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ค่าเช่าที่บริษัทได้รับประจำภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว โดยบริษัทมีรายได้จากค่าเช่าอยู่ที่ 283 ล้านบาทในปี 2559 หลังจากคลังสินค้าทั้ง 4 แห่งเปิดดำเนินการเต็มปี รายได้ค่าเช่าจะเติบโตปีละ 1%-4% โดยเฉลี่ยตามอัตราการเพิ่มที่ระบุไว้ในสัญญา

บริษัทมีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าน้อยรายเนื่องจาก 90% ของรายได้ค่าเช่าที่บริษัทได้รับมาจากผู้เช่าเพียงรายเดียว คือ ยูนิลีเวอร์ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวบรรเทาลงจากสัญญาเช่าที่มีระยะเวลาเช่าที่ค่อนข้างยาวนานถึง 10 ปี โดยสัญญาเช่าจะครบกำหนดในปี 2565 และปี 2567 สัญญาเช่าคลังสินค้าแห่งแรกซึ่งมียูนิลีเวอร์เป็นผู้เช่ามีการต่ออายุออกไปอีก 10 ปีหลังจากครบกำหนดเมื่อปี 2555 นอกจากนี้ ความเสี่ยงของคู่สัญญาของบริษัทก็มีค่อนข้างต่ำเนื่องจากยูนิลีเวอร์เป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือที่ค่อนข้างสูงและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

ฐานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางโดยระดับการก่อหนี้เริ่มปรับลดลง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนได้ขึ้นไประดับสูงสุดที่ 76.1% ณ เดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างคลังสินค้าแห่งที่ 2 สำหรับยูนิลีเวอร์ หลังปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับลดลงเป็นลำดับมาอยู่ที่ 56.5% ณ เดือนมีนาคม 2560 ตามกำหนดการชำระคืนหนี้ เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำสุดที่ 2.9% ในปี 2556 เป็น 9.8% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มจาก 1.4 เท่าในปี 2556 เป็น 3.8 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560

รายได้รวมของบริษัทเติบโตขึ้นจาก 101 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 286 ล้านบาทในปี 2559 หลังจากบริษัทสร้างคลังสินค้าแห่งที่ 2 แล้วเสร็จและซื้อกิจการของบริษัทแอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ระหว่าง 76%-90% ในช่วงปี 2555-2559 อัตรากำไรจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายการปรับปรุงและซ่อมบำรุงในแต่ละปี เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับ 158 ล้านบาทในปี 2559 เมื่อคลังสินค้า 4 แห่ง ดำเนินงานเต็มปี

ในช่วงปี 2560 บริษัทวางแผนจะติดตั้งอุปกรณ์ให้เช่าสำหรับผู้เช่าคลังสินค้าซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจำนวน 56 ล้านบาท แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากค่าเช่าที่จ่ายล่วงหน้าจากผู้เช่า ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาคลังสินค้านั้นมีจำนวนไม่มาก ดังนั้นจึงคาดว่าการก่อหนี้และเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามการจ่ายชำระหนี้ที่ทยอยครบกำหนดชำระ

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะลดลงต่ำกว่า 40% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะเพิ่มขึ้นจากจาก 9.8% ในปี 2559 ไปอยู่ที่ระดับ 15% ในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าในปี 2562 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่จัดการได้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 บริษัทมีหนี้สินระยะยาวจำนวน 1,575 ล้านบาท ซึ่งภาระหนี้เหล่านี้มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงปี 2560-2562 อยู่ที่ระดับ 175-187 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถชำระหนี้ส่วนใหญ่ได้โดยใช้เงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 165-190 ล้านบาทต่อปีและเงินสนับสนุนบางส่วนจากบริษัทอควา คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากบริษัทไม่มีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้และสินทรัพย์ถาวรส่วนใหญ่ของบริษัทก็เป็นสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้จากธนาคาร

แนวโน้มอันดับเครดิต"Stable"หรือ"คงที่"สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างกระแสเงินสดตามที่บริษัทวางแผนไว้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอพร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในกรณีที่จำเป็นด้วย

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทยังคงสามารถรักษาฐานะทางการเงินให้อยู่ ณ ระดับปัจจุบันได้ ในทางตรงกันข้ามการปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น ทำให้กระแสเงินสดของบริษัทอ่อนแอลง นอกจากนี้ การขยายธุรกิจที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้ฐานะทางการเงินและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้หรือการจัดตารางชำระคืนหนี้ที่ไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ