ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. อาปิโก ไฮเทค (AH) ที่ระดับ “BBB+"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Tier 1 ในประเทศไทย ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ค่อนข้างสูง ความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากอัตรากำไรที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำในธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปและธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า และลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงระดับการก่อหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาด้วย
AH เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Tier 1 รายใหญ่ในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2539 โดยเริ่มจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดก่อนที่จะขยายไปสู่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 ณ เดือนมีนาคม 2560 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท 2 ราย ได้แก่ กลุ่มครอบครัวตระกูลเย็บ (Yeap) และกลุ่มโซจิทสึ คอร์ปอเรชั่น (Sojitz Corporation - Sojitz) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 39.9% และ 15.8% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2560 นางสาวเย็บ ซิน หรู และนางสาวเย็บ ซิน หยี ได้แยกกันทำบันทึกข้อตกลงกับโซจิทสึ คอร์ปอเรชั่นในการซื้อหุ้นของบริษัทที่โซจิทสึ คอร์ปอเรชั่นถือครองทั้งหมด ทั้งนี้ การขายเงินลงทุนในบริษัทของโซจิทสึ คอร์ปอเรชั่นออกไปไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหลักของบริษัทเนื่องจากบริษัทมีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย
บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Original Equipment Manufacturer - OEM) และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่บริษัทผลิต ได้แก่ ชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปและเชื่อมประกอบ ชิ้นส่วนโลหะตีอัดขึ้นรูปและกลึงเจียผิว ชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์จับยึด รวมถึงแม่พิมพ์ปั๊มโลหะขึ้นรูป โดยสินค้าหลักของบริษัท ได้แก่ ชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปซึ่งรวมถึงโครงช่วงล่างรถกระบะ สำหรับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดและมิตซูบิชิในประเทศไทยและจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในประเทศมาเลเซีย
ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สร้างรายได้ 60%-70% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจในประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วยธุรกิจในประเทศมาเลเซียประมาณ 15%-25% และในประเทศจีนประมาณ 3%-5% ของรายได้ทั้งหมด
ปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดยมีปริมาณการผลิต 1.9 ล้านคันในปี 2559 หรือคิดเป็น 2% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก สถานะที่แข็งแกร่งของประเทศไทยมาจากการมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ทั้งผู้ผลิตในกลุ่ม Tier 1 กลุ่ม Tier 2 และกลุ่ม Tier 3 ในขณะที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์เพื่อให้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี นอกจากนี้ สาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ เส้นทางขนส่งทางบกต่าง ๆ ท่าเรือขนาดใหญ่ และนิคมอุตสาหกรรมที่มีความเพียบพร้อมก็ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและผลผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยอีกด้วยเช่นกัน
สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่ง บริษัทมีรายได้จากธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ค่อนข้างสูงและมั่นคงโดยอยู่ที่ประมาณ 9-10 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้านการตลาดของบริษัทที่เข้มแข็ง บริษัทมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและดำเนินมาตรการลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยการทำสัญญาความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น บริษัทสามารถส่งสินค้าให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ได้โดยตรงจากโรงงานของบริษัทที่กระจายอยู่หลายแห่ง โดยบริษัทมีโรงงานผลิตจำนวน 12 แห่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย
บริษัทมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำต่าง ๆ ในประเทศไทย บริษัทมีลูกค้ารายใหญ่คือ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (อีซูซุ) ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 25%-30% ของรายได้รวมของบริษัท ส่วนลูกค้าหลักรายอื่น ๆ ได้แก่ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ออโต้อัลลายแอนซ์) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างฟอร์ดและมาสด้า และ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (นิสสัน) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% และ 5% ของรายได้รวมของบริษัทตามลำดับ
ทั้งนี้ ยอดการผลิตรถยนต์รวมเฉพาะของอีซูซุ ฟอร์ด มาสด้า และนิสสันนั้นครอบคลุมส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ของลูกค้าเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างสอดคล้องกับอุปสงค์ของรถยนต์ในประเทศไทยและในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากลูกค้าหลักจำนวนน้อยราย ดังนั้น การสูญเสียลูกค้าหรือคำสั่งซื้อที่ลดลงจากลูกค้าหลักรายใดรายหนึ่งจึงอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การมีจำนวนผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยน้อยรายทำให้เกิดการกระจุกตัวของลูกค้า อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่เคยมีประวัติการสูญเสียคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ การได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของบริษัท การเป็นผู้ผลิตในกลุ่ม Tier 1 ของบริษัทได้รับการปกป้องจากการมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่สูง เช่น มูลค่าการลงทุนที่สูงและต่อเนื่อง การมีประวัติการดำเนินงานที่ดี และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์
บริษัทได้มองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดรถยนต์ระดับโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเติบโตของบริษัท ในเดือนมิถุนายน 2560 บริษัทได้เข้าลงทุนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,522 ล้านบาทใน Sakthi Global Auto Holdings Ltd. (SGAH) การลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SGAH จำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินกู้แปลงสภาพสังเคราะห์จำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะครบกำหนดชำระคืนในเดือนมีนาคม 2563 บริษัทได้รับเงินกู้ระยะเวลา 5 ปีจำนวน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธนาคารไทย 2 แห่ง ขณะที่เงินทุนส่วนที่เหลืออีกจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมาจากเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้ เงินกู้แปลงสภาพสังเคราะห์ดังกล่าวมีอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปีและให้สิทธิ์ในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของ SGAH ได้
การเข้าลงทุนใน SGAH ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้แก่บริษัท ความร่วมมือระหว่างกันจะช่วยให้บริษัทได้รับประโยชน์ในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดรถยนต์ระดับโลกที่มีขนาดใหญ่ และหากผลการดำเนินงานของ SGAH เป็นไปตามที่คาดไว้ก็จะส่งผลให้กำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นด้วย ปัจจุบัน SGAH มีตลาดและฐานการผลิตอยู่ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย โปรตุเกส สหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการขยายตลาดจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท
รายได้ของบริษัทในปี 2559 ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 15,139 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศไทยที่ซบเซา รายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ 3,946 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ภาวะตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวส่งผลให้ยอดขายชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปลดลง ในทางตรงกันข้าม รายได้จากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์ฮอนด้าในประเทศมาเลเซียเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตดังกล่าว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะทรงตัวในปี 2560 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 16,000-17,000 ล้านบาทในปี 2562 บริษัทน่าจะได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้นจากการคาดการณ์ว่าฟอร์ดจะเพิ่มการผลิตรถกระบะรุ่นเรนเจอร์ นอกจากนี้ การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ อันเนื่องมาจากความร่วมมือที่มีกับ SGAH อาจช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอีกทางหนึ่ง
ความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทถูกลดทอนลงบางส่วนจากอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โลหะปั๊มขึ้นรูปและธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ แม้อัตรากำไรของบริษัทจะค่อนข้างต่ำแต่ก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยบริษัทสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนการผลิตของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปให้ผู้ผลิตรถยนต์ได้เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากความพยายามในการลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในขณะที่หน่วยธุรกิจผลิตชิ้นส่วนโลหะตีอัดขึ้นรูปก็เริ่มมีกำไรแล้วเช่นกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน) ของบริษัทอยู่ที่ 9.7% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ 7.9% ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 8% ตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้า และหากการลงทุนใน SGAH เป็นไปตามที่คาดไว้ ส่วนแบ่งกำไรและดอกเบี้ยรับจากการลงทุนใน SGAH จะช่วยเพิ่มอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทให้สูงขึ้นในระยะยาว
ในระยะสั้นระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนใน SGAH แต่คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 44% ในปี 2560 และค่อย ๆ ลดลงจนต่ำกว่า 40% ในปี 2562 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะลดลงโดยอยู่ที่ 25%-29% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจาก 52.4% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่มากกว่า 20% สะท้อนถึงระดับที่ยอมรับได้ตามการประเมินของทริสเรทติ้ง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ปีละ 1,400-1,500 ล้านบาทซึ่งสามารถรองรับเงินกู้ที่จะครบกำหนดในแต่ละปีและแผนลงทุนในสินทรัพย์ถาวรซึ่งมีมูลค่ารวมกันปีละ 1,000-1,500 ล้านบาทได้ทั้งจำนวน นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 บริษัทยังมีเงินสดและสินทรัพย์ในความต้องการของตลาดอีกประมาณ 470 ล้านบาทและวงเงินหมุนเวียนที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 2,700 ล้านบาทไว้เป็นแหล่งเงินทุนอีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ หนี้ระยะสั้นทั้งหมดของบริษัทเป็นเงินกู้หมุนเวียนที่ได้รับจากธนาคาร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลัก รวมถึงรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% โดยอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทลดลงต่ำกว่า 5% หรืออัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงเกินกว่า 50% เป็นระยะเวลานาน และ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ ๆ หรือสินค้าใหม่ที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น