นายวุฒิชัย เจริญผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ไอที บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวในการเสวนาพิเศษ"สถาบันการเงินกับฟินเทค แทนที่หรือเติมเต็ม?"ว่า ในเร็ว ๆ นี้ทาง KTC จะเลือกฟินเทคที่คิดว่าเหมาะสมและคุ้มค่ามาให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อช่วยตอบโจทย์ที่เป็นความต้องการของลูกค้า
ส่วนในระยะยาว KTC อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะตั้งหน่วยฟินเทคขึ้นมาหรือไม่ โดยอาจจะใช้งบลงทุนในปีหน้า
"ยอมรับว่าเราเริ่มช้ากว่าคนอื่น ก็ต้องเลือกว่าจะเอาฟินเทคมาให้บริการหรือสินค้าใหม่จึงจะคุ้มค่า" นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย กล่าวว่า ฟินเทคกับสถาบันการเงินไม่ได้มาแทนที่กัน แต่จะพึ่งพากัน โดยฟินเทคสามารถตอบสนองได้ในเรื่องความรวดเร็ว แต่บางอย่างฟินเทคก็ไม่มีเหมือนสถาบันการเงิน เช่น เงินทุน
"ฟันธงว่ามาช่วยส่งเสริม...ฟินเทคจะเข้ามา full fill สถาบันการเงิน" นายวุฒิชัย กล่าว
ขณะที่นายเอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดรีมเมคเกอร์ คราวด์ฟันดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ฟินเทคในต่างประเทศมีมาตั้งแต่ราวปี 56-57 โดยในระยะแรกนำมาใช้ในการให้บริการสินเชื่อในบางสาขาที่สถาบันการเงินไม่มี จากนั้นเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 59 ซึ่งปัจจุบันมีฟินเทคที่มีชื่อเสียงหลายราย เช่น UTU ที่ร่วมกับสถาบันการเงินในการให้ลูกค้านำแต้มสะสมบัตรเครดิตมาใช้บริการซื้อสินค้าหรือบริการ, Billme ให้บริการแก่ลูกค้าให้สามารถเลือกวิธีการชำระหนี้ในหลายรูปแบบ
ขณะที่บริษัทจะเปิดตัวบริการฟินเทคเกี่ยวกับการระดมทุนให้กับกิจการขนาดเล็กที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า ซึ่งต้องการเงินทุนเพิ่มราว 10-20 ล้านบาท เช่น ร้านอาหาร
"เราจะเปิดตัวในปีหน้า โดยมีแนวคิดว่าอะไรก็สามารถระดมทุนได้ และหาธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต" นายเอกสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายนเรศ เหล่าพรรณราย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท สต๊อคควอดแรนท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายในปีนี้บริษัทจะร่วมมือกับโบรกเกอร์ 2-3 รายในการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นกลไกเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการแย่งตัวมาร์เก็ตติ้งหรือการลดค่าคอมที่เรื้อรังมานาน และในระยะต่อไปจะให้บริการเล่นหุ้นได้ทั่วโลก
"ไม่อยากเห็นข่าวแย่งตัวมาร์เก็ตติ้งหรือลดค่าคอมอีก อยากให้แข่งขันกันในเรื่องเทคโนโลยี" นายนเรศ กล่าว