นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาละเมิดต่อธนาคารธนชาต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาตได้นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทไปเปิดเผยต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) จนเป็นเหตุให้ KTB ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของ EARTH ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารธนชาต
ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินที่บริษัทเตรียมจะโอนไปยังประเทศจีนเพื่อใช้สำหรับดำเนินธุรกิจซื้อขายถ่านหินให้กับคู่ค้าในจีนและขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งชาติของจีนแล้วเช่นกัน
"ความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินคือเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การกระทำของธนาคารธนชาตครั้งนี้เรียกได้ว่าไม่มีจรรยาบรรณ เพราะไม่ยอมเก็บรักษาความลับของลูกค้า"นายขจรพงศ์ ระบุ
นายขจรพงศ์ กล่าวว่า การกระทำของธนาคารธนชาตส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งเป็นความหวังที่เหลืออยู่ในการที่จะฟื้นกิจการและธุรกิจให้กลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพในการทำกำไรและชำระหนี้ในอนาคตได้ แต่ภายหลังจาการอายัดในบัญชีเท่ากับเป็นการตัดเส้นทางทำมาหากินของบริษัท เพราะทำให้ไม่มีเงินมาใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมใดได้เลย แม้แต่การจ่ายเงินเดือนพนักงาน นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทมีสิทธิจะถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากได้มีการเซ็นเช็คไปแล้วจ่ายให้กับกรมสรรพากร จ่ายค่าระวางเรือ เป็นต้น เช็คที่จ่ายออกไปเด้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
"ถือว่า EARTH เดินมาถึงทางตันแล้วจริงๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมใดได้เลย...หากว่าผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใดอยากจะฟ้องร่วมธนาคารธนชาต บริษัทพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและดำเนินการให้"นายขจรพงศ์ ระบุ
พร้อมกันนั้น นายขจรพงศ์ ยังชี้แจงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาของ EARTH โดยยืนยันว่า ไม่มีผู้บริหารรายใดล้มบนฟูก แต่เหตุที่เดินมาถึงทางตันเพราะปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากถูกระงับวงเงินแบบทันทีทันใด ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และสุดท้ายอันดับเครดิตขง EARTH ร่วงลงสู่ระดับ D ทันทีทำให้บริษัทไม่มีช่องทางในการหาเงินเพื่อมาชำระหนี้ที่เหลือ
"ขอยืนยันว่า EARTH ไม่ได้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาจากสถาบันการเงินนำไปลงทุนทำธุรกิจถ่านหินอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เคยเอาไปใช้เพื่อการลงทุนในรูปแบบอื่นใดเลย"นายขจรพงศ์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่ามีการนำเงินไปใช้ซื้อกิจการอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักของบริษัท เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล
ส่วนประเด็นการขอมาร์จิ้นเพื่อนำมาซื้อหุ้น EARTH นั้น มีเป้าหมายเพื่อจะดำรงสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ เอาไว้ เพื่อให้การบริหารกิจการเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยท้าให้ไปค้นข้อมูลย้อนหลังว่าผู้บริหารของ EARTH ไม่มีพฤติกรรมการเล่นหุ้นแบบเทรดดิ้งหรือเก็งกำไร แต่ราคาหุ้นที่รูดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือน พ.ค.เป็นเหตุให้ผู้บริหารโดนฟอร์ซเซลส่งผลให้ต้องตกเป็นลูกหนี้ของโบรกเกอร์คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอผ่อนชำระหนี้
และที่สำคัญผู้บริหาร EARTH ได้เสียสละนำหุ้นส่วนตัวไปเป็นหลักประกันให้แก่บริษัทและค้ำประกันส่วนตัวเต็มวงเงินให้กับสถาบันการเงิน เมื่อหุ้นราคาตก ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องจัดหาหุ้นมาเพิ่มเติมให้กับสถาบันการเงิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะล้มบนฟูก
นายขจรพงศ์ กล่าวว่า ที่สุดแล้วคณะกรรมการบริหารบริษัทได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะหลังจากถูกระงับสินเชื่อทั้งหมด ทำให้การประกอบธุรกิจของบริษัทชะลอตัวอย่างมาก ที่ผ่านมาบริษัทได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้หลายราย และได้รับแจ้งจากคู่ค้าว่าได้ยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเป็นยอดหนี้รวมกว่า 26,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ปรากฎในงบเฉพาะกิจการของ EARTH ในไตรมาส 1/60 แต่จัดไว้เป็นประมาณการหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่หนี้ในบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 21,480 ล้าน เมื่อนำยอดหนี้ทั้งสองรวมกันจะเท่ากับ 47,480.01 ล้านบาท
“การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูจะทำให้บริษัทมีเวลาการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และเชื่อว่าจะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย อาทิ เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันก็มีสิทธิได้รับหนี้คืนเท่าเทียมกับเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ทั้งนี้เราไม่เคยคิดที่จะแฮร์คัทเจ้าหนี้รายใด แต่ที่ต้องการคือขอเวลาและโอกาสเท่านั้น"นายขจรพงศ์ กล่าว